นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกรณีที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำผู้บริหารจากค่ายโทรศัพท์มือถือ 3 ราย ทั้ง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ออกไปเป็นปี 2563 โดยขอให้ใช้มาตรา 44 ยืดการชำระค่างวดออกไปว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ไม่มีอะไรคืบหน้า และยังไม่มีการใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 เพื่อแก้ไขในเรื่องดังกล่าว เพราะอยู่ที่เงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งบางเรื่องอยู่ในอำนาจของ กสทช. และคงไม่สามารถตอบได้ว่าจะทันในรัฐบาลนี้หรือไม่
"ยังไม่ต้องพูดไปถึงจุดนั้น เพราะอยู่ที่ว่าเงื่อนไขต่าง ๆ คืออะไร เงื่อนไขบางเรื่องอยู่ในอำนาจของ กสทช. เงื่อนไขบางอย่างหากไปถึงจุดนั้น กสทช.อาจทำอะไรให้ไม่ได้ เพราะติดกฎหมาย ก็ต้องแก้กฎหมาย และก็ต้องมาดูอีกว่า หากแก้กฎหมายจะแก้ด้วยวิธีปกติหรือวิธีอื่น จะทำในสมัยรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า ซึ่งเอาไว้ค่อยพูดกัน" นายวิษณุ กล่าว
พร้อมระบุว่า ผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือได้เข้ามาชี้แจงถึงปัญหาและความต้องการ ซึ่งรัฐบาลอยากทราบว่า หากมีการเปิดประมูลคลื่น 700 MHz ผู้ประกอบการจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการขอนำกลับไปพิจารณา เนื่องจากมีเงินไม่เพียงพอ จึงอยากทราบว่า รัฐจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรและมีเงื่อนไขใดบ้าง หากเป็นเงื่อนไขที่รับได้ก็จะเอาไปคิด แต่ถ้ารับไม่ได้ก็อาจไม่เข้าร่วมประมูล ซึ่งทั้งหมดคือตัวแปรที่รัฐต้องนำไปพิจารณา จึงยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้
นายวิษณุ ยอมรับว่า ผู้ประกอบการได้ชี้แจงว่า หากไม่มีการประมูล ประเทศไทยอาจไม่สามารถให้บริการ 5G ได้ทันตามกรอบเวลา ซึ่งการเดินหน้าสู่ 5G ต้องมีการพัฒนาหลายอย่างเพื่อรองรับ ซึ่งการพัฒนาจะต้องทำโดยรัฐและเอกชน และต้องใช้เงิน จึงยังตอบไม่ได้ว่า จะได้ข้อสรุปเมื่อไร และต้องมีการพูดคุยกันอีกหลายครั้ง