กสทช.-ADVANC-BBL จับมือร่วมพัฒนาระบบพิสูจน์ ยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID เริ่มทดสอบ Q2/62

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 14, 2019 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และธนาคารกรุงเทพ (BBL) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile ID หรือ แทนบัตร) ระยะทดสอบ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกในชื่อ "แทนบัตร" เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานฯ กับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ ที่จะพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความน่าเชื่อถือ สะดวก ปลอดภัยและสอดรับกับพฤติกรรมของคนในยุคดิจิทัล ภายใต้ความร่วมมือสำนักงานฯ จะลงทุนแพลตฟอร์มระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อให้มีการใช้บัตรประจำตัวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ

โดยเมื่อจัดทำระบบแล้วเสร็จ จะพัฒนาแอพพลิเคชัน "แทนบัตร" โดยในระยะทดสอบนี้ลูกค้าของเอไอเอสต้องมีการสมัครเพื่อขอใช้งาน และแอพพลิเคชันนี้จะออกคิวอาร์โค้ดส่วนบุคคล เพื่อใช้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะสามารถนำมายื่นให้ธนาคารกรุงเทพใช้พิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล ก่อนการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ กับธนาคารกรุงเทพต่อไป โดยสำนักงาน กสทช. จะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในเรื่องนี้ และเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการตาม ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้เพื่อให้บัตรประจำตัวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือคิวอาร์โค้ดนี้ สามารถนำมาใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนได้ในอนาคตต่อไป

ปัจจุบันฐานข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีความแม่นยำสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายเรื่องการลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบอัตลักษณ์ ทั้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งสำนักงาน กสทช. เล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันการใช้ประโยชน์ของข้อมูลร่วมกันระหว่างสองอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตน และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาแทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งระบบที่สำนักงาน กสทช. จะพัฒนาขึ้น โดยมีเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพนำไปทดลองให้บริการประชาชนนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลของประชาชนจะถูกใช้งานอย่างปลอดภัยและเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร BBL กล่าวว่า การให้บริการทางการเงินนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถยืนยันตัวบุคคลของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ขณะเดียวกันยังตอกย้ำความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน ตั้งแต่การเริ่มต้นเปิดบัญชีก็จะต้องมีการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer) ตลอดจนการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ละครั้งก็ต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนทำรายการ ทิศทางพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบันเป็นยุคแห่งโมบายอินเทอร์เน็ต

สำหรับธนาคารกรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านจากสังคมไร้เงินสดสู่ธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าผู้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็นรายบุคคล ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆในโครงการแทนบัตร รวมไปถึงพันธมิตรทางธุรกิจ

ซึ่งภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาและวางรากฐานระบบ Mobile ID ครั้งนี้ ในระยะแรกธนาคารน่าจะสามารถเริ่มทดลองระบบ Mobile ID ผ่านบริการ ที่โครงการฯ คัดเลือก เช่น การผูกเบอร์โทรศัพท์ที่ลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีเงินฝาก ได้ประมาณกลางปีนี้ และคาดว่าจะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย หลังจากนั้นทุกฝ่ายจะร่วมกันประเมินผลและวางแผนร่วมกันสำหรับการดำเนินการในระยะถัดไป

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร ADVANC กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสร้างประสบการณ์การให้บริการในรูปแบบ Digital ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าของเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยในช่วงระยะทดสอบจะเปิดให้บริการใน 2 รูปแบบ คือ ลูกค้าเอไอเอสใช้"แทนบัตร" เป็นการผูกเบอร์โทรศัพท์ที่ลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขา ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนการกรอกเอกสารได้และช่วยยืนยันความเป็นเจ้าของในเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า

ลูกค้าเอไอเอสใช้ "แทนบัตร" ในการเข้าร่วมโครงการ CSR ของธนาคารกรุงเทพ เช่นการ Booking ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดใช้งานช่วงระยะทดสอบได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 โดยความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนให้ใช้ดิจิทัลไอดีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ