นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คณะกรรมการ คปป.) มีมติในการพิจารณาผลการทบทวนชั้นที่สุด ไม่ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard: SG) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ต่อไปเป็นครั้งที่ 3 หลังพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและข้อกฎหมายตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในหรือที่คุกคามอุตสาหกรรมภายในอันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการ คปป. ได้พิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้รับจากกระบวนการไต่สวน และผลจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย (Hearing) ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 91 ราย ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ผู้ผลิตต่างประเทศ ผู้ผลิตในประเทศ สมาคมผู้ใช้ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และผู้นำเข้า โดยพิจารณาความเห็นทั้งจากกลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องการให้ขยายเวลาการใช้มาตรการออกไป เพราะกังวลถึงสถานการณ์ของสงครามการค้า และผลกระทบที่อาจเกิดกับอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กในห่วงโซ่อุปทาน
ตลอดจนความเห็นจากกลุ่มผู้ใช้ที่ไม่เห็นด้วยที่จะขยายเวลาการใช้มาตรการ ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ ต่อเรือ ผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องจักรกลการเกษตร เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการ ประกอบกับผลการทบทวนที่ไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน หรือที่คุกคามอุตสาหกรรมภายใน อันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการฯ จึงมีมติไม่ให้ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง
นายอดุลย์ กล่าวว่า หลักการใช้มาตรการ SG มีวัตถุประสงค์เป็นมาตรการชั่วคราวให้ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ความเสียหายจากสาเหตุอื่น และ SG เป็นการใช้มาตการที่มีต้นทุนสูง คือ ยิ่งใช้นานยิ่งมีต้นทุนจากการต้องชดเชยและการถูกตอบโต้ทางการค้าได้ ยกตัวอย่าง กรณีที่ไทยถูกตอบโต้จากตุรกีโดยการขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศ สาเหตุเพราะไทยไปขยายเวลาการใช้มาตรการ SG สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องฟ้องร้องต่อ WTO เพื่อลดผลกระทบและกดดันให้ตุรกียุติการตอบโต้กับไทย โดยกลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการขยายเวลาการใช้มาตรการ SG ก็ไม่สามารถเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตุรกีได้
สำหรับกรณีนี้ จากข้อมูลการส่งออกของไทย อุตสาหกรรมหลักหลายกลุ่มของไทย รวมทั้งสินค้าเกษตร มีโอกาสจะถูกตอบโต้จากหลายประเทศคู่ค้า ซึ่งในระหว่างการทบทวนมีประเทศเกาหลีใต้ อียิปต์ และตุรกี แสดงความเห็นคัดค้านการใช้มาตรการ นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลอียิปต์ ได้แจ้งที่จะขอชดเชยหากต่ออายุมาตรการออกไปด้วย
ส่วนกรณีที่มีกระแสจากกลุ่มเหล็กว่า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาการ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ คปป. ได้ออกมาเผยทิศทางก่อนการประชุมแล้วว่าจะไม่พิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้อย่างแน่นอนนั้น ไม่เป็นความจริง โดยการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 ก.พ.62 เป็นเพียงการชี้แจงให้ทราบข้อมูลตามร่างผลการทบทวน ซึ่งเป็นผลตัดสินเบื้องต้น ที่ได้ออกไปให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีโอกาสเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ใช่การชี้แจงผลขั้นสุดท้ายของการพิจารณา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ประธานจะทราบว่าผลการพิจารณาจะเป็นเช่นไรก่อนการประชุมพิจารณาผลชั้นที่สุด
สำหรับข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก 7 สมาคมที่มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ก.พ.62 เรียกร้องให้คณะกรรมการฯ ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard: SG) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ต่อไปเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ไทยใช้มาตรการมาแล้ว 6 ปี คือ ครั้งแรกวันที่ 27 ก.พ.56 - 26 ก.พ.59 และขยายเวลาครั้งที่ 2 ออกไปจนถึงวันที่ 26 ก.พ.62 โดยกลุ่ม 7 สมาคมอ้างถึงสถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และว่าถ้าไม่มีการต่ออายุมาตรการ SG ออกไปอีกจะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยไปไม่รอดนั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่ามาตรการ SG เป็นมาตรการเยียวยาความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น มิใช่มาตรการที่จะแก้ปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนไทยที่เป็นผลจากเหตุอื่น เช่น ปัญหาโครงสร้างการผลิต การบริหารจัดการ และการมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการใช้ในประเทศมากได้
"ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อมูลหลักฐานร่วมกันโดยรอบคอบแล้ว จึงมีมติเป็นความเห็นของที่ประชุมดังกล่าวข้างต้น ประธานไม่สามารถไปชี้นำ หรือกำหนดความเห็นของที่ประชุมได้ การที่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนไปออกข่าวกดดันการพิจารณา ทั้งๆ ที่ทราบตั้งแต่ต้นถึงหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกรอบกฎหมายที่คณะกรรมการฯ ต้องยึดถือ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมการฯ และผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่นๆ" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุ