นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จัดสัมมนาเรื่อง "กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน" ที่จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562
ทั้งนี้ หากเอกชนมีความเข้าใจในเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าก็จะสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนได้เต็มที่ รวมทั้งได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา และหอการค้าจังหวัดสงขลา ร่วมเสวนาในหัวข้อ "ค้าขายกับจีนให้ได้กำไรด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่" และ "โอกาสทางการค้าของไทยกับการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน" ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ ได้ลงพื้นที่จัดสัมมนาในภูมิภาคต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อให้ข้อมูลเรื่องนี้ เช่น นครพนม กรุงเทพฯ และน่าน เป็นต้น
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าจำนวนมาก งานสัมมนาดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างโอกาสและแต้มต่อทางการค้าด้วยการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลก โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยทั้งการนำเข้าและส่งออก
โดยในปี 2561 การค้าของไทยกับจีนมีมูลค่าการค้ากว่า 80.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น การส่งออกจากไทยไปจีน 30.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากจีน 49.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีนในการส่งออก (มกราคม-พฤศจิกายน 2561) มูลค่า 16.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 53.7 ของมูลค่าการส่งออกไปจีน และใช้สิทธิเอฟทีเออาเซียน-จีนในการนำเข้า (มกราคม-พฤศจิกายน 2561) มูลค่า 12.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 26.6 ของการนำเข้าจากจีน ซึ่งหากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้ามีความเข้าในเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการในการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีน มากขึ้น