นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผุ้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปี 61 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวมาอยู่ที่ 6.0% จาก 4.4% ในปีก่อนหน้า สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี และสินเชื่อธุรกิจหลายประเภทขยายตัวได้ดี ส่วนใหญ่มาจากการใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และ SME ที่วงเงินค่อนข้างสูง แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนจะมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นก็ตาม
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 61 สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) อยู่ที่ 2.93% ต่อสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 2.91% โดยมียอดคงค้าง NPL ที่ 4.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องมาตั้งแต่สิ้นปี 59 สะท้อนภาพรวมคุณภาพสินเชื่อเริ่มทรงตัว แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และการตัดหนี้สูญ
ในปี 61 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 2.07 แสนล้านบาท ขยายตัว 10.8% จากปีก่อนหน้า จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยตามสินเชื่อที่ขยายตัวและการลดลงของค่าใช้จ่ายการกันสำรอง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมชะลอตัวลงเนื่องจากการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมเร่งตัวขึ้น ประกอบกับรายได้ค่านายหน้าจากธุรกิจประกันและกองทุนรวมลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.11% จาก 1.04% ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ทรงตัวที่ 2.73%
"สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจ ด้านคุณภาพสินเชื่อค่อนข้างทรงตัวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายการกันสำรองที่ลดลง ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพโดยมีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้"นายสมชาย กล่าว