นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดหุ้นในประเทศจะสามารถกลับมายืนในแดนบวกได้เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียที่ได้เปิดทำการกันไปบ้างแล้ว หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ตัดสินใจใช้ยาแรงลดดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% มาสู่ระดับ 3.5% เมื่อคืนนี้ และมีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงอีกเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงต้องพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศประกอบไปด้วย
นายเชาว์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การปรับลดดอกเบี้ยของเฟดเป็นการตอบสนองต่อความกังวลของนักลงทุนทั่วโลก เพราะหากไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ตลาดหุ้นของสหรัฐอาจจะดิ่งลงไปลึกมากกว่านี้ ซึ่งแม้จะลดแล้วตลาดหุ้นดาวนโจนส์ยังปิดลบไป 1% กว่าเมื่อคืนนี้ แต่ก็เชื่อว่าตลาดหุ้นเอเชียก็น่าจะตอบสนองในทางบวกมากขึ้น อย่างเช้านี้ตลาดหุ้นนิเคอิปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 3%
อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยของเฟดคงยังไม่สามารถเห็นผลฟื้นเศรษฐกิจของสหรัฐทันที แต่คงต้องรอข้อเสนอของทำเนียบขาวที่จะเสนอเข้าสภาคองเกรสกลางเดือน ก.พ.นี้เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีที่มีมูลค่ากว่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นาวเชาว์ เชื่อว่า ในระยะอันใกล้นี้สหรัฐยังชะลอตัวต่อเนื่อง และคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่จะทยอยประกาศออกมาคงยังไม่ค่อยดีนัก เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะกลับมาฟื้นตัวข่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งการตัดสินใจอย่างกระทันหันของเฟดเมื่อคืนนี้เป็นเรื่องที่รวดเร็ว ทำให้เห็นพัฒนาเชิงบวกของเฟด ต่อจากนี้หวังว่ามาตราการของรัฐบาลสหรัฐจะมีผลบ้าง แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)กล่าวว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเนื่องจาก sentiment ดอลลาร์ที่อ่อนค่า แต่ในขณะนี้เงินบาทยังนิ่งอยู่ที่ 33.12/15 บาท/ดอลลาร์ เพราะมีปัจจัยการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติกดดันอยู่ แต่ด้วยแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐและดอลลาร์ที่อ่อนค่า น่าจะทำให้บาทแข็งขึ้นในระยะปานกลางถึงระยะยาว
สำหรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงจะพิจารณาความเหมาะสม แต่เห็นว่าควรจะนำทิศทาง
ดอกเบี้ยของสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาพิจารณาด้วย เพราะการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างมากของเฟดอาจจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาในระยะสั้น
แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์ ระบุว่า การที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยลง 0.75% ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐไม่ต่างจากไทยมากนั้น เป็นการสะท้อนให้เห้นว่าสหรัฐให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ประเทศไทยนั้นอัตราเงินเฟ้อ
ในปัจจุบันเกิดจากแรงผลักดันของต้นทุนสินค้าที่รับผลจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ไม่ได้เกิดจากภาวะการบริโภคในประเทศ
"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าติดตาม หากแบงก์ชาติยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องการออมมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ" แหล่งข่าว ระบุ
การที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยลงแรงถึง 0.75% เป็นการทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และหลังจากนี้ไปคงต้องรอดูว่าสหรัฐฯ จะออกมาตรการทางการคลังในรูปแบบใดเพิ่มเติมอีก ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น คงต้องติดตามภาวะการซื้อขายหุ้นในวันนี้ว่าจะตอบรับอย่างไร
ส่วนภาวะอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทของไทยนั้นเป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คงไม่สามารถจะอยู่เฉยได้ แต่ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มเงินบาทคงจะแข็งค่าขึ้นอย่างแน่นอนเนื่องจากจะมีเงินไหลเข้าประเทศจากสาเหตุที่อัตราดอกเบี้ยในบ้านเราสูงกว่าสหรัฐ
แหล่งข่าว กล่าวว่า หากมาตรการต่างๆ ของสหรัฐที่ออกมาในขณะนี้ยังไม่ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั่วโลก ก็อาจทำให้นักลงทุนดึงเงินออกจากตลาดหุ้นไปลงทุนในประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลในสหรัฐ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น เนื่องจากมีเงินไหลเข้าสหรัฐ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--