นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมใช้เงินลงทุนราว 6 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับการสร้างโรงไฟฟ้าหลักแห่งใหม่อีกหลายโรง ที่จะมีกำลังผลิตรวมประมาณ 5,400 เมกะวัตต์ (MW) วงเงินราว 3 แสนล้านบาท และวงเงินอีกราว 3 แสนล้านบาท จะใช้การก่อสร้างระบบส่งเพื่อรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเข้าระบบ ซึ่งเป็นไปตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ ปี 2561-2580 (PDP2018) ที่ปัจจุบันแม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ กฟผ.เชื่อมั่นว่ามีศักยภาพในการจัดหาแหล่งเงินลงทุนที่คาดว่าจะเริ่มใช้เงินค่อนข้างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า เบื้องต้นอาจกู้เงินจากในประเทศเป็นหลัก และมีโอกาสจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund:IF) เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่ 1 กอง คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF)
"เรื่องของทางการเงินเราสามารถดำเนินการได้ ในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่จะเริ่มก่อสร้าง เราจะต้องกู้เงินซึ่งก็จะเป็นการกู้ในประเทศเป็นหลัก ดูว่าโรงไหนที่จะทำ IF ได้ก็ถึงตอนนั้นมีนวัตกรรมทางการเงินแบบไหนเราก็จะนำมาใช้ ยืนยันว่าไม่มีปัญหา"นายวิบูลย์ กล่าว
ตามร่างแผน PDP2018 รัฐบาลให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าใหม่กำลังผลิตรวมประมาณ 5,400 เมกะวัตต์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง ขนาด 650 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 68 , โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขนาด 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 69 ,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 69 และอีก 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70 ,โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 72 ,โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 71
ขณะเดียวกันหลังจาก 10 ปีไปแล้ว กฟผ.ยังได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 78
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าใหม่ที่ กฟผ.ได้รับมอบหมายดำเนินการในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา แม้ว่าจะไม่ได้ถูกบรรจุในร่างแผน PDP2018 แต่ก็ยังไม่ได้ยกเลิกไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลสรุปจากคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ว่าควรจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้หรือไม่ และหากมีก็ควรจะจัดตั้งในพื้นที่ใด ขณะที่ร่างแผน PDP2018 ยังเปิดกว้างว่าให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดสถานที่ตั้งเท่านั้น
สำหรับการที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจาก กฟผ.ตามร่างแผน PDP2018 ตลอดแผน 20 ปี จะลดลงเหลือราว 24% จาก 35% ในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความชัดเจนเพราะแผนจะทบทวนทุก 5 ปีอยู่แล้ว แต่ในช่วง 10 ปีข้างหน้าหากกำลังผลิตใหม่ที่ กฟผ.ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผน 5,400 เมกะวัตต์ก็จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ยังคงอยู่ในระดับ 31%
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า การดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของ กฟผ.จะต้องคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบ ซึ่งตามร่างแผน PDP2018 ภารกิจของ กฟผ. แบ่งออกเป็น 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่
1.การดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค โดยการปรับปรุงและพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ปรับการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มีความเสถียรมากขึ้น เช่น โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งเป็นระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์กับน้ำในเขื่อน โดยจะนำร่องในเขื่อนสิรินธร จำนวน 45 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเดือนธ.ค.63 โซลาร์เซลล์จะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางวัน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางคืน รวมถึงยังเป็นต้นแบบการศึกษาเรื่องความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าจากความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียนภายในระบบส่งไฟฟ้าด้วย
ตามร่างแผน PDP2018 กฟผ.เสนอให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำและพลังน้ำ รวม 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับกำลังผลิตไฟฟ้าของเขื่อนกฟผ.ในปัจจุบัน เพื่อนำโซลาร์ลอยน้ำมาเสริมระบบการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น จากเดิมที่กำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนจะทำได้ 3-6 ชั่วโมง เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มอีกประมาณ 8 ชั่วโมง ทำให้ชั่วโมงการผลิตไฟฟ้าในแต่ละวันยาวนานขึ้นเป็น 11-14 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำส่วนใหญ่คาดว่าจะเข้าระบบในช่วง 10 ปีหลังของร่างแผน PDP2018
2.การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเทคนิค กฎระเบียบ ภาษี และการพาณิชย์ เป็นต้น
3.การเตรียมการรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) กฟผ.ได้พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จในปี 63 ถือเป็นเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทนและบริหารจัดการสายส่งให้สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน (EGAT Micro Energy Management System : EGAT Micro-EMS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Micro grid) ช่วยมอนิเตอร์ในภาพรวมและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลักไว้
นายวิบูลย์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการคัดเลือกผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปีให้กับกฟผ.ขณะนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกทางเทคนิค 20-30 ราย จากผู้ที่ยื่นแสดงความสนใจทั้งสิ้น 43 ราย หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาซองราคา ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ ครม.ต่อไป เนื่องจากโครงการมีมูลค่าค่อนข้างมาก หลังจากนั้นจึงจะมีการลงนามในสัญญาเพื่อรองรับการนำเข้าตามแผนในช่วงเดือน ก.ย.62
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาต่ออายุสัญญารับซื้อโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ (TECO) ขนาด 700 เมกะวัตต์ ของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ที่กำลังจะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 63 นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้