นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประมาณการเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของปี 2562 ที่ 9% โดยอิงจากเป้าหมายการส่งออกและสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีอัตราการขยายตัวประมาณ 14% อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองภาพรวมสถานการณ์การค้าในอนาคตอีกครั้งหนึ่ง
"แม้ว่าในปี 2562 ทิศทางการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มต้องเผชิญกับผลกระทบของสงครามการค้า การผันผวนของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของหลายประเทศ โดยเป้าหมายการส่งออกในปี 2562 น่าจะขยายตัวที่ 8% หรือคิดเป็นมูลค่า 272,685 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เบื้องต้นกรมฯ จึงได้ประมาณการเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ของปี 2562 ที่ 9%"
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ตลอดทั้งปี 2561 (ม.ค.-ธ.ค.) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 74,335.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 76.95% ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 14.76% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กรมฯ ประมาณการไว้ที่ 9% หรือคิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 70,794 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่มีการขยายตัวไปในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และการพัฒนาระบบการให้บริการของกรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 69,602.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 4,733.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้จัดทำความตกลง FTA ทั้งสิ้น 12 ฉบับ (นอกจากนี้ ยังมีความตกลงอาเซียน-ฮ่องกงอีกหนึ่งฉบับที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งปีแรก) และมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 69,602.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 78.48% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 15.16% โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน (มูลค่า 26,890.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จีน (มูลค่า 17,633.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ออสเตรเลีย (มูลค่า 9,121.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (มูลค่า 7,565.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และอินเดีย (มูลค่า 4,466.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 37.36% รองลงมาคือ จีน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 24.74% และอินเดีย มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 21.35%
ซึ่งทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวนอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้วยังพบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี (98.85%) อาเซียน-จีน (88.57%) ไทย-ญี่ปุ่น (88.47%) อาเซียน-เกาหลี (87.19%) และไทย-เปรู (85.97%) รายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ตู้เย็น น้ำตาลจากอ้อย และทุเรียน
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ที่ไทยยังคงได้รับสิทธิ GSP 5 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราชนอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในปี 2561 (ม.ค.-ธ.ค.) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 4,733.49 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิ 59.81% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 9.20% โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกายังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 90% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ซึ่งตลอดทั้งปี 2561 มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 4,248.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิ 67.51% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 6,293.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 2.04% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มอื่นๆ และเลนส์แว่นตา
ทั้งนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการใช้สิทธิ GSP ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้ คือการให้สิทธิ GSP ของญี่ปุ่น จะหมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 62 เป็นต้นไป ตามเงื่อนไขใหม่ของศุลกากรญี่ปุ่นที่กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นเวลา 3 ปี จะไม่ได้รับสิทธิ GSP ทุกรายการ ซึ่งกรมฯ ได้แจ้งผู้ประกอบการเป็นระยะเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2559 โดยการตัดสิทธิ GSP ของญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อไทยน้อยมาก เนื่องจากรายการสินค้าเกือบทั้งหมดที่ใช้สิทธิ GSP ญี่ปุ่น สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ทดแทนได้ และได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ พบสินค้าซอร์บิทอลเพียงรายการเดียวที่ถูกตัดสิทธิ GSP ญี่ปุ่น แต่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีทั้งภายใต้ JTEPA และ AJCEP อย่างไรก็ตามในปี 2561 มีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 7.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 58.67% เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 1.27% ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิฯ ลดลงเมื่อเทียบกับ 4.88% ในปีก่อนหน้า และหากเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทุกระบบ พบว่า GSP ญี่ปุ่นมีสัดส่วนการใช้สิทธิน้อยที่สุด โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิเพียง 0.17% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ผู้ส่งออกมาขอ Form A ใช้สิทธิ GSP ญี่ปุ่น ได้แก่ ซอร์บิทอล ขนมปัง เพสทรี เค้กอื่นๆ พิซซ่าแช่เย็นหรือแช่แข็ง หอยเป๋าฮื้อ และไม้อัดพลายวูด เป็นต้น
"อาเซียนยังคงนำโด่งใช้สิทธิ FTA มูลค่าสูงสุด ส่วนการใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ มียอดใช้สิทธิสูงสุด รวมทั้งตั้งเป้าการใช้สิทธิ ปี 62 โตไม่น้อยกว่า 9%" นายอดุลย์ กล่าว