สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คงคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 62 เติบโตในระดับ 3.5-4.5% แม้ว่าจะปรับลดคาดการณ์ส่งออกและนำเข้าในปีนี้ลง แต่เชื่อว่าการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนจะช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดี การลงทุนภาครัฐเร่งตัวขึ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต้องจับตาในปีนี้ คือ เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และความผันผวนในระบบเศรษกิจและการเงินโลก บรรยากาศทางการเมืองและทิศทางนโยบายของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 ที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4% หรือในกรอบ 3.5-4.5% มีแรงสนับสนุนที่สำคัญจาก 1.การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ
2.การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ 3.การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี และการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
4.การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปตกิของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป 5.การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ประกอบด้วย เศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงต่อความผันผวนและการขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะกรณีผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, การแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการอ่อนค่าของเงินหยวน
และ บรรยากาศการเมือง และทิศทางนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่อาจมีความอ่อนไหวต่อบรรยากาศทางการเมือง และทิศทางนโยบายหลังการเลือกตั้ง
"สภาพัฒน์ยังยืนยันจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 4% ไปก่อน เพราะต้องรอให้มีปัจจัยที่ชัดเจน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการเลือกตั้งภายในประเทศที่ยังไม่ทราบผล ซึ่งหลังจากวันที่ 24 มี.ค.ไปแล้ว น่าจะเห็นความชัดเจน เพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนการลงทุนและการบริโภคให้กลับมาได้ในระดับที่เราคาดหมาย...ปัจจัยการเมืองมีน้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะนักลงทุนต่างประเทศต้องการเห็นความนิ่ง และความชัดเจนในเชิงนโยบาย ซึ่งเมื่อ 2 ปัจจัยนี้ชัดเจน เราถึงจะปรับประมาณการจีดีพีใหม่อีกครั้ง" นายทศพร กล่าว
อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 ยังจำเป็นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก ซึ่งหากปีนี้สามารถผลักดันให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้ถึง 5% ก็เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นอกจากนี้ มองว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้นและคาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งน่าจะทำให้ยอดนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้แตะระดับที่ 41 ล้านคน คิดเป็นรายได้ถึง 2.24 ล้านล้านบาท
"เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศเรายังดีอยู่ ทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ และน่าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เป็นต้นไป" เลขาธิการสศช.ระบุ
สำหรับการบริหารเศรษฐกิจไทยในปี 62 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ 1.การขับเคลื่อนการส่งออกทั้งปีให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5.0% 2.การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว 3.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 4.การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน 5.การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก 6.การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานรองรับกับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มีโอกาสขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ
ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวเสริมว่า การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ของสภาพัฒน์ไว้ที่ 4.0% อยู่บนสมมติฐานว่าสงครามการค้าไม่เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลดระดับความรุนแรงลงไปจากปัจจุบัน
ส่วนกรณีที่สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้เหลือเพียง 4.1% ลดลงจากระดับ 4.6% รอบที่แล้วนั้น สาเหตุมาจากการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้ลงเหลือ 62-72 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งแม้สภาพัฒน์จะปรับลดประมาณการทั้งด้านการส่งออกและการนำเข้าลง แต่ก็ยังคงภาพรวมจีดีพีปีนี้ไว้ในกรอบเดิมไปก่อน
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการมาอยู่ที่ระดับ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าจากระดับ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์ ในการประมาณการรอบที่แล้ว เนื่องจากมองว่าในช่วงต้นปีเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากผลของนโยบายการเงินของสหรัฐ และประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่านโยบายและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากสหรัฐเข้ามายังไทยตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 4/61
แต่ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์เงินบาทน่าจะเริ่มกลับมาอ่อนค่าได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลงเหลือ 1-2 ครั้ง จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะปรับขึ้นถึง 3 ครั้ง ซึ่งการปรับทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในครั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนย้ายเงินทุนไปยังประเทศอื่นที่มีผลตอบแทนดีกว่า
อย่างไรก็ดี ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น เชื่อว่าการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมรอบต่อไปแรงกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะลดลง เนื่องจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดชะลอลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
ส่วนเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งนั้น สภาพัฒน์ประเมินว่า การเลือกตั้งปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น งบประมาณสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. การสรรหา ส.ว. และการเลือกตั้งท้องถิ่น รวม 6,000 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายในการหาเสียง 16,690 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง อีกราว 2,500 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีราว 0.1-0.2%