นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) คาดว่า รอบปีบัญชี 2561 (1 เม.ย.2561-31 มี.ค.2562) คาดการณ์ว่ากำไรอาจจะลดลงเหลือ 8,500 ล้านบาท จาก 9,400 ล้านบาทในรอบปีก่อน เนื่องจากปีนี้มีการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องการลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรหลายโครงการ และยังมีโครงการพลิกฟื้นและจูงใจให้ลูกค้าดีที่ไม่ประสงค์จะพักชำระหนี้ และยังขยายเรื่องการประกันภัยพืชผลการเกษตรจากข้าว ข้าวโพด วัวนม ลำไย (นำร่องเกษตรกรที่สมัครใจ) ซึ่งตามนโยบายกระทรวงการคลังอยากให้ช่วยเหลือพืชทุกชนิด แต่ต้องมีข้อมูลที่เรียกว่า Lost Data ที่ชัดเจนจึงจะสามารถกำหนดเบี้ยประกันเพื่อคุ้มครองได้ แต่ข้อมูลตรงนี้ยังมีไม่ครบ
"รอบปีที่ผ่านมาเรามีค่าใช้จ่ายเยอะ ดอกเบี้ยเหมือนกับเราไม่ลด แต่จริงๆ เราลดเยอะมาก ลดเป็นรายโครงการเยอะมาก ประกันภัยพืชผล ออกเพื่อจูงใจลูกค้าเราให้เข้าสู่ระบบประกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ธ.ก.ส.เป็นธนาคารของรัฐจึงไม่ได้วัดประสิทธิภาพทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่เราวัดเรื่องประสิทธิภาพของการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือว่าที่ผ่านมาเราทำงานตอบสนองนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปีที่แล้วมีโครงการที่ ธ.ก.ส.ทำให้กับรัฐบาลกว่า 40 โครงการ" นายอภิรมย์ กล่าว
สำหรับยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นเดือน มี.ค.2562 ธ.ก.ส.คาดว่าจะอยู่ที่ 4% ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยถ้าคิดจากมูลค่าหนี้ทั้งหมดในระบบ 1 ล้านล้านบาท คาดว่าหนี้เสียจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท คิดเป็นหนี้เสียของเกษตรกรรายย่อยประมาณ 5% ถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้เสียของสถาบันการเงินซึ่งอยู่ราว 2.3%
"ทั้งนี้ ที่เกษตรกรรายย่อยมีหนี้เสียมากนั้นเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกษตรกรต้องเผชิญทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงได้เข้าไปช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้หรือการขยายเวลาชำระหนี้เกษตรกรให้ เพื่อยืดระยะเวลาให้เกษตรกรนำเงินมาชำระ ธ.ก.ส.ในภายหลัง ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนตัวเลข NPL ในส่วนของเกษตรกรรายย่อยให้น้อยลงด้วย"นายอภิรมย์ กล่าว
สำหรับภาพรวมหนี้สินเกษตรกร พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่นำไปใช้ลงทุนการผลิต และสะสมมาเรื่อยๆ จนต้องเข้าโครงการขยายเวลาชำระหนี้ประมาณ 3.1 ล้านรายที่ประสงค์จะขยายเวลาชำระหนี้ ซึ่ง ธ.ก.ส.กำลังไปพูดคุยรายละเอียดกับลูกค้าเพื่อสอบถามข้อมูลถึงสาเหตุที่ขอขยายเวลาชำระหนี้ว่าปัญหาคืออะไร แต่ระหว่างขยายเวลาชำระหนี้ลูกค้าต้องส่งดอกเบี้ยเป็นรายไตรมาส ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จัดเป็นลูกค้าที่มีวินัยทางการเงิน
"เราก็จะช่วยดูว่าภาระหนี้ที่ลูกค้าขอขยายเวลาออกไปสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งภารกิจเราก็จะไปดูเรื่องรายได้เกษตรกรว่าอาชีพเดิมที่เค้าทำอยู่คืออะไร จำเป็นต้องปฏิรูปภาคเกษตรเรื่องอะไรบ้าง ลดต้นทุน ถ้าจำเป็นต้องใช้สินเชื่อเพื่อให้ต้นทุนลดลง เช่น จัดการระบบน้ำใหม่ เราก็มีสินเชื่อให้"
ด้านเงินฝากรอบปีบัญชี 2561 อยู่ที่ 57,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย ซึ่งก็มีเป้าที่ให้แต่ละสาขาสนับสนุนให้เกษตรกรมีเงินออมเพิ่มขึ้นจากรอบปีบัญชีปีก่อน 4% หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท จากยอดเงินฝากของเกษตรกรทั้งหมด 3 แสนล้านบาท ส่วนรอบปีบัญชีปี 2562 ตั้งใจจะให้เงินฝากเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 5% โดยจูงใจด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรออมเงินระยะยาวผ่านโครงการของ ธ.ก.ส.เพื่อเก็บไว้ใช้หลังเกษียณอายุในการทำงาน อาทิ ออมเงินกับกองทุนทวีสุข ซึ่งสามารถออมเงินต่อเนื่องได้ถึงอายุ 60 ปี ระหว่างการออมก็จะมีสวัสดิการให้และถ้าหยุดออมเงินก็จะมีความคุ้มครองให้
นอกจากนี้ยังจับมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ส่งเสริมการออมเงินระยะยาว โดยจัดทำโปรโมชั่นชวนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ออมเงิน เก็บไว้ 100 บาทเข้า กอช. และรัฐบาลจะสบทบให้อีก 100 บาทถ้าหาก อสม.อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป เป็นต้น ซึ่งประมาณเดือนมิ.ย.จะมีโปรโมชั่นออกมาจูงใจให้มาเข้าร่วมโครงการอีกรอบนึง