พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปประกอบการพิจารณาด้วย หลังจากนั้นส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
พร้อมกันนี้ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม "อุตสาหกรรม" ให้สอดคล้องกับการประกอบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยให้ครอบคลุมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรม เช่น การวิจัย พัฒนา และบริการเกี่ยวกับอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมซอฟแวร์ เพื่อให้การดำเนินการของ ส.อ.ท.ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร และให้บริการสมาชิกได้ทั้งหมด, แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของ ส.อ.ท.ให้สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านอุตสาหกรรมของภาครัฐ ในการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับ, แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา และจำนวนของคณะกรรมการ ส.อ.ท. โดยกำหนดจำนวนของคณะกรรมการฯ จากเดิม 357 คน ลดลงเหลือไม่เกิน 251 คน เพื่อลดปัญหาเรื่องการจัดการประชุม องค์ประชุม การจัดการเลือกตั้ง และค่าใช้จ่าย,
เพิ่มเติมให้มีคณะกรรมการบริหารเป็นทีมสนับสนุนประธาน ส.อ.ท.ในการบริหารองค์กร เพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง โดยประธาน ส.อ.ท.จะเป็นผู้ดำเนินการการจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร, เพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญของ ส.อ.ท.ต้องเป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือประกอบอุตสาหกรรมประเภทอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น และเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาชิก, เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ส.อ.ท.ให้สามารถมอบอำนาจ หรือมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานของ ส.อ.ท.ได้ ยกเว้นอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายขององค์กร,
และเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้รักษาการ ให้มีอำนาจออกประกาศให้สมาชิกแจ้งข้อมูลของสมาชิก เพื่อใช้ในการควบคุม วิเคราะห์ ประเมิน และประกอบการจัดทำนโยบาย และแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลในการประกอบการจัดทำนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบถ้วน