ธปท.เตรียมปรับมุมมองศก.ใหม่เพื่อกำหนดนโยบายการเงินหลังเฟดลดดอกเบี้ยแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 23, 2008 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะมีการปรับปรุงสมมติฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน โดยเฉพาะประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกให้ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น 
โดยเฉพาะหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงถึง 0.75% เพื่อแก้ไขความถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยธปท.อาจจะปรับสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยในอนาคตของเฟดลงมาที่ 3.25% จากเดิม 4.25% ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ก็มีประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการคลัง ราคาน้ำมัน และนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
"ในที่ประชุมกนง.เองก็ประเมินว่าเฟดจะลดแต่ไม่คิดว่าจะลดมากขนาดนี้ แต่ตอนนี้ก็คิดแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมาเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เราจึงมองไปข้างหน้าใหม่"นางอัจนา กล่าว
แต่ทั้งนี้ ต้องมองด้วยว่าขณะนี้นโยบายการเงินของไทยเป็นอิสระจากเฟดค่อนข้างมาก แม้ว่าในแง่ของเศรษฐกิจโดยรวมจะมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก ดูได้จากค่าเงินบาทในระยะนี้ที่ยังเคลื่อนไหวทรงตัวจากการซื้อและขายเงินบาทที่สมดุลกัน ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทมีสาเหตุสำคัญมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
"ถ้าเป็นการแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้าก็จะต้องลดดอกเบี้ยตาม แต่ตอนนี้บาทแข็งเพราะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องปรับสมมติฐานดอกเบี้ยเฟดใหม่มาอยู่ที่ 3.25% จากเดิมที่ 4.25%" นางอัจนา กล่าว
สำหรับการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเฟดลงทันที 0.75% ธปท. มองว่าเป็นการทำเพื่อชะลอไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย และไม่ให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบมากเกินไป ส่วนจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามองมุมไหน ถ้ามองกลาง ๆ ไม่เลวร้ายนัก การลดดอกเบี้ย 0.75% ก็ถือว่าช่วยลดผลกระทบได้ เพราะที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาไม่ดี ส่วนใหญ่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงน่าจะเป็นการสร้างหลักประกันให้เศรษฐกิจสหรัฐได้
"มุมมองของแบงก์ชาติเห็นว่าเฟดลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นปฏิกิริยาที่สมเหตุสมผล แต่เกินเหตุหรือไม่ ไม่รู้ ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐไม่มีฟองสบู่และเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก ก็จะทำให้ความมั่นใจกลับคืนมาได้ ดูจากไทม์มิ่งก็น่าจะช่วยได้บ้าง...การกระทำของเฟดคราวนี้จึงเป็นการ correction ความเชื่อมั่นของตลาด"นางอัจนา กล่าว
สำหรับผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่ามีระดับความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใด ซึ่งขณะนี้ต่างก็ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐเป็นตลาดหลัก แต่ความเชื่อมโยงที่มีต่อเศรษฐกิจเอเชียน้อยลงกว่าช่วงที่ผ่านมาในสมัยวิกฤติบริษํทดอทคอมเมื่อปี 2001 เพราะขณะนี้มีจีนและอินเดียเป็นผู้สร้างอุปสงค์ในเอเชียแทน อย่างไรก็ตาม ต้องดูความเชื่อมโยงทางการเงินด้วย ซึ่งขณะนี้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นทั่วโลก
นางอัจนา กล่าวว่า ผลกระทบที่จะมีต่อด้านการส่งออกของไทยนั้นยังไม่ชัดเจน แต่พบว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาไม่มีสัญญาณว่าการส่งออกจะชะลอตัว ซึ่งก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเราไม่ได้รับผลกระทบ และขณะนี้อุปสงค์ในประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นปัจจัยที่ช่วยลดผลกระทบจากการส่งออกที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง
ส่วนเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน คงไม่สมารถตอบได้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เพราะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ค่อนข้างวุ่นวาย ถ้าสหรัฐลดดอกเบี้ยลงอีกก็อาจทำให้เงินไหลออกไปอีก แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐแย่และทำให้เศรษฐกิจโลกแย่ไปด้วยจากการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกัน คนก็คิดว่าเอาเงินไปลงทุนสหรัฐดีกว่าเพราะได้รับผลกระทบเหมือนกันทั่วโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ