ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า วันนี้เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 31.10 บาท/ดอลลาร์ ไปที่ระดับ 31.07 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ยังคงสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวน และสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์เผชิญแรงเทขายเพิ่มเติม ท่ามกลางความคาดหวังมากขึ้นว่าการเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะมีสัญญาณที่โน้มเอียงไปในทางที่ดีขึ้น โดยการลดความกังวลของนักลงทุน ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์ และเงินเยน ลดลงตามไปด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะขายสุทธิ ทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรไทย รวมกันประมาณ 20.4 พันล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 62 ซึ่งแตกต่างจากภาพของช่วงเดียวกันในปี 61 แต่เงินบาทก็ยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และเมื่อเทียบกับระดับปิดสิ้นปี 61 แล้ว เงินบาทยังแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ โดยเฉพาะเงินหยวนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 4.7% เป็นอันดับที่ 1 ของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ เงินหยวนแข็งค่า 2.2% ตามมาเป็นอันดับที่ 3 รองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย ที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 3.7%
ทั้งนี้ แม้การแข็งค่าของค่าเงินบาทและการส่งออกไทย อาจจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่สูงนักในบางช่วงเวลา และค่าเงินอาจจะไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีผลต่อภาคการส่งออก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะจีน และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน น่าจะเพิ่มแรงกดดัน และมีผลกระทบต่อเนื่องต่อธุรกิจในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว เพราะนอกจากการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว จะลดทอนแต้มต่อของความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา และทำให้รายรับของภาคการส่งออกที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทลดลงแล้ว และยังเป็นการแข็งค่าในจังหวะที่ภาคต่างประเทศของไทยต้องรับมือกับปัจจัยท้าทายอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มการชะลอตัวของปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลก
ในระยะข้างหน้า ปัจจัยสำคัญในระยะสั้นที่อาจมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท ประกอบด้วย ผลการเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน, สัญญาณดอกเบี้ยจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอบวันที่ 19-20 มี.ค. 2562 และประเด็นความเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ สถานการณ์ BREXIT ของอังกฤษ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากความคืบหน้าของผลการเจรจาของสหรัฐฯ และจีนเป็นไปในทางบวก โดยสหรัฐฯ มีท่าทีที่ยืดหยุ่นมากขึ้นต่อกำหนดเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หรือเฟดยังคงสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมี.ค.นี้แล้ว เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะยังคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
และเมื่อมองจากอีกด้านหนึ่ง หากตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องข้อพิพาททางการค้าสหรัฐฯ และจีน เงินบาทก็อาจจะขยับแข็งค่าขึ้น หรืออาจเผชิญแรงกดดันน้อยกว่าสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ เนื่องจากเงินบาทยังเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องในปีนี้ รวมถึงมีทุนสำรองระหว่างประเทศ และสภาพคล่องในระบบการเงินไทยในระดับสูง
ทั้งนี้ หากเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า คงต้องจับตาระดับสำคัญทางเทคนิคที่ 31.00 บาท/ดอลลาร์ และ 30.80 บาท/ดอลลาร์อย่างใกล้ชิด
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว จำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (และต้องติดตามตัวแปรที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทย และ/หรือปัจจัยที่อาจมีผลทำให้มุมมองต่อค่าเงินดอลลาร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน อาทิ การกลับมาส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด) เพราะต้องยอมรับว่า นอกจากความผันผวนของเงินบาทจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจแล้ว ยังเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทางการไทย ซึ่งต้องดูแลความผันผวนของค่าเงินด้วยเครื่องมือที่ค่อนข้างจำกัด เพราะมาตรการที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ยังไม่ใช่ทางเลือกสำหรับสภาวะที่ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติของกระแสเงินทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย