ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คาดมาตรการคุมสินเชื่อ-ดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดตลาดที่อยู่อาศัยปี 62 ชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 20, 2019 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุถึงแนวโน้มในปี 62 คาดว่าผลจากมาตรการควบคุมสินเชื่อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยและจะส่งผลให้มีการชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยในด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า 17.9% และ 15.1%ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 61

และคาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศจะลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปี 61 ส่วนอุปทานโครงการเปิดตัวใหม่คาดว่าจะลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับปี 61 แต่ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับปี 61 เนื่องจากการขยายตัวของโครงการที่เปิดขายใหม่ในปี 60-61

สำหรับแนวโน้มที่อยู่อาศัยอยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในปี 62 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ112,044 หน่วย เป็นประเภทบ้านจัดสรรประมาณ 41.1% และเป็นอาคารชุด 58.9% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 100,800 ถึง 123,250 หน่วย ลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับปี 61 ซึ่งมีจำนวน 118,271 หน่วย 1.2 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 61 ทั้งปี มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ 122,877 หน่วย เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับปี 60 ซึ่งมีจำนวน 114,501 หน่วยโดยที่อยู่อาศัยแนวราบทั้งบ้านจัดสรรและบ้านที่ประชาชนสร้างเองเพิ่มขึ้น 11.5% ส่วนอาคารชุดเพิ่มขึ้น 3.9%

ส่วนแนวโน้มที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 136,799 หน่วย โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 123,100 ถึง 140,900 หน่วย เพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับปี 61 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 122,877 หน่วย

แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลในปี 62 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 161,457 หน่วย มีช่วงคาดการณ์อยู่ประมาณ 145,300 ถึง 177,600 หน่วย และมีมูลค่า 479,904 ล้านบาท มีช่วงคาดการณ์อยู่ประมาณ 431,900 ถึง 527,900 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยลดลง 17.9% และมูลค่าลดลง 15.1% เมื่อเทียบกับปี 61 ซึ่งมียอดโอนกรรมสิทธิ์มีจำนวน 196,630 หน่วย และมีมูลค่า 565,112 ล้านบาท

ด้านแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 697,814 ล้านบาท โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 692,600 ถึง 701,900 ล้านบาท มีแนวโน้มลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปี 61 ซึ่งมีมูลค่า 702,900 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง

นายวิชัย ยังกล่าวสรุปภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยปี 61 ว่า ทั้งปีสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 60 เป็นผลจากการขยายตัวของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รถไฟฟ้าความเร็วสูง นอกจากนี้ผลจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งผลให้ปลายปีมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นมามากเป็นพิเศษและเกิดอุปทานใหม่ขึ้นทดแทนอุปทานเดิมที่ได้ขายออกไปแล้ว

โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลในปี 21 มีจำนวนรวม 404 โครงการ มีหน่วยในผังรวม 118,271 หน่วย และมีมูลค่าโครงการรวม 538,767 ล้านบาท จำนวนโครงการลดลง 2.7% แต่จำนวนหน่วยและมูลค่าเพิ่มขึ้น 3.6% และ 10.3% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 60 โดยทบ้านจัดสรรมีจำนวน 244 โครงการลดลง 9.0% และมีจำนวน 45,063 หน่วยลดลง 8.5% แต่มีมูลค่าโครงการ 217,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปี 60 ส่วนอาคารชุดมีจำนวน 160 โครงการ 73,208 หน่วยและมีมูลค่าโครงการ 320,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการจำนวนหน่วยและมูลค่าโครงการ โดยเพิ่มขึ้น 8.8%, 12.7% และ 15.2% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 60

ทำเลของโครงการบ้านจัดสรรที่เปิดขายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรกในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 61 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภททาวน์เฮ้าส์มากที่สุด ได้แก่ 1) บางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย ซึ่งเป็นทำเลที่แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการแล้ว เปิดขายในระดับราคา 3.01-5 ล้านบาทมากที่สุด 2) ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ ซึ่งเป็นทำเลที่มีแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง จึงส่งผลให้โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในทำเลนี้ปรับราคาเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับราคา 3.01-5 ล้านบาท จากเดิมส่วนใหญ่เปิดขายอยู่ในระดับราคา 2.01-3 ล้านบาท มากที่สุด 3) บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ในทำเลนี้โครงการเปิดใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่ใกล้ทางด่วนพิเศษบูรพาวิถี และราคาปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับราคา 3.01-5 ล้านบาทจากเดิมส่วนใหญ่เปิดขายอยู่ในระดับราคา 2.01-3 ล้านบาท มากที่สุด

4) เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก เป็นทำเลชุมชนที่อยู่อาศัยขยายตัวสูงเห็นได้ชัดในปี 61 ที่มีโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นประเภททาวน์เฮ้าส์และอยู่ในระดับราคา 2.01-3 ล้านบาท มากที่สุด และ 5) คลองสามวา-มีนบุรี-หนองจอก-ลาดกระบัง เป็นทำเลที่มีรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างจึงส่งผลให้โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในทำเลนี้ปรับราคาเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับราคา 3.01-5 ล้านบาท จากเดิมส่วนใหญ่เปิดขายอยู่ในระดับราคา 2.01-3 ล้านบาท มากที่สุด

ทำเลของโครงการอาคารชุดที่เปิดขายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรกในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และส่วนใหญ่เป็นห้องชุดประเภท 1 ห้องนอนมากที่สุด ได้แก่ 1) ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) ส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 5.01-7.50 ล้านบาท ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 3.01-5 ล้านบาท มากที่สุด 2) สุขุมวิท ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสุขุมวิท) ส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป

3) พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 3.01-5 ล้านบาท ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 2.01-3 ล้านบาทมากที่สุด 4) พญาไท-ราชเทวี ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสุขุมวิท) ส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 5.01-7.50 และ 7.51-10 ล้านบาท ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 2.01-3 ล้านบาทมากที่สุด และ 5) ธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด ส่วนใหญ่เปิดขายในระดับราคา 2.01-3 ล้านบาทมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 61 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั้งระบบทั่วประเทศ มีมูลค่า 3,795,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 ซึ่งมีมูลค่า 3,525,103 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั่วประเทศ ณ สิ้นปี 62 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,145,000 ล้านบาท โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 4,102,700 ถึง 4,187,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับปี 61 ซึ่งมีมูลค่า 3,795,058 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ