นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นและอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยนั้น แต่ยังเชื่อว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 10-12.5% แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ เนื่องจากการปรับแผนส่งออกสินค้าไทยได้เพิ่มสัดส่วนการส่งออกในตลาดใหม่มากขึ้นทดแทนตลาดหลักที่มีปัญหา ซึ่งจะสามารถชดเชยผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดหลักที่ชะลอตัวลงได้บางส่วน
"ปัญหาในสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ไทยต้องระมัดระวัง แต่ก็มีสัญญาณดีตรงการส่งออกไทยไม่ได้พึ่งตลาดสหรัฐฯอย่างเดียว จะเห็นได้จากสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 14-15% จากเดิมมีสัดส่วนสูงถึง 19% ซึ่งมีตลาดใหม่ เช่น จีน อินเดีย เข้ามาชดเชยได้บ้าง แต่คงไม่เพียงพอ เพราะสหรัฐฯมีกำลังซื้อมาก จึงหวังว่าการที่เฟดลดดอกเบี้ย 0.75% จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นมาบ้าง" นายเกริกไกร กล่าว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งปรับตัว คือ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในเชิงคุณภาพ, ต้นทุน และราคา ซึ่งต้องทำให้เกิดความหลากหลายและไม่ควรมองการส่งออกว่าจะได้ตามเป้าหมาย แต่ต้องมองจากกำไรที่จะได้ เพราะหากส่งออกน้อยแต่ได้มูลค่าจากราคาสินค้ามากขึ้น เป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าส่งออกมากแต่ได้มูลค่าน้อย
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปีนี้ไทยจะต้องเหนื่อยมากขึ้น เพื่อให้การส่งออกขยายตัวอย่างน้อย 10% โดยต้องทำให้แต่ละเดือนมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะค่าเฉลี่ยปี 50 แต่ละเดือน 13,000-14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และภาพรวมขยายตัว 17%
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--