PwC เผยผลสำรวจ CEO อาเซียนเชื่อปีนี้ ศก.โลกชะลอ มองการปฏิวัติของ AI เกิดผลกระทบมหาศาล-ไทยต้านกระแสไม่อยู่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 21, 2019 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก ครั้งที่ 22 ประจำปี 2562 จากซีอีโอทั่วโลก 1,378 ราย ใน 91 ประเทศ พบว่า ซีอีโออาเซียนเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวลงจากปีก่อน ซึ่งคล้ายคลึงกับมุมมองของซีอีโอโลก

ทั้งนี้ ซีอีโออาเซียนถึง 46% เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้จะลดลงจากปีก่อน จากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีเพียง 10% ขณะที่ซีอีโอโลก 28% ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัว จากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เพียง 5%

และพบว่า 5 อันดับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในสายตาของซีอีโออาเซียนในปี 62 ได้แก่ อันดับแรก ความขัดแย้งทางการค้า อันดับสอง ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง อันดับสาม ความไม่แน่นอนของนโยบาย อันดับสี่ กฎระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวดเกินไป และอันดับห้า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

"ผลสำรวจในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยซีอีโอมองประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายประเทศ รวมถึงสภาพแวดล้อมของกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ ที่มีความเข้มงวดมากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโต โดยปีนี้ เปอร์เซ็นต์ของซีอีโออาเซียนที่มีมุมมองในเชิงลบยังมีมากกว่าซีอีโอโลกด้วย ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ ที่ซีอีโอในฝั่งเอเชียมักมีความเชื่อมั่นมากกว่าซีอีโอจากฝั่งตะวันตก" นายศิระกล่าว

พร้อมระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ได้ส่งผลให้ซีอีโออาเซียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ในการเติบโต โดย 29% มีการปรับกลยุทธ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานและจัดหาวัตถุดิบ โดยหันไปส่งออกและหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน รวมถึงการชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ และคาดหวังว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนจะสามารถเจรจากันได้ ในขณะที่อีก 17% เลือกที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเติบโตในตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ในส่วนของความเชื่อมั่นต่อรายได้ของซีอีโออาเซียนในปีนี้ ผลสำรวจระบุว่า เปอร์เซ็นต์ความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ในระยะ 12 ปีข้างหน้านั้น ลดลงจาก 44% ในปีก่อน เหลือ 33% ในปีนี้ ขณะที่ 39% ของซีอีโออาเซียนเชื่อมั่นว่ารายได้ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตลดลงจากปีก่อนที่ 53%

สำหรับอุปสรรคสำคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของซีอีโออาเซียน ได้แก่ 1.การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 2.ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และ 3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

"การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสหลายๆ อย่าง ทั้งความสามารถทางการแข่งขัน, การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมถึงการขยายสู่ลาดใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน" นายศิริระบุ

ทั้งนี้ ผู้นำธุรกิจอาเซียนมองว่า 3 อันดับแรกของตลาดที่น่าลงทุน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทของพวกเขาเติบโตได้ในปีนี้ อันดับ 1 จีน อันดับ 2 อินโดนีเซีย อันดับ 3 สหรัฐ ในขณะที่ตลาดอันดับรองลงมานั้น อันดับ 4 เวียดนาม อันดับ 5 อินเดีย อันดับ 6 เมียนมา อันดับ 7 มาเลเซีย ในขณะที่ประเทศไทย ติดอยู่ในอันดับที่ 8 เท่ากับญี่ปุ่น กัมพูชา สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

นายศิระ มองว่า สาเหตุที่จีนและอินโดนีเซียขึ้นไปอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศที่น่าลงทุน เป็นเพราะทั้งสองประเทศดังกล่าวมีประชากรจำนวนมากและเป็นตลาดใหญ่ จึงยังมีโอกาสนำสินค้าเข้าไปขยายตลาดได้อีกมาก และจากอันดับการน่าลงทุนซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 8 นั้น อาจเป็นเพราะการสำรวจเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย-ต.ค. 61 ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการกำหนดวันเลือกตั้ง จึงอาจเกิดความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองของไทย และความเชื่อมั่น

"ถ้ามาสำรวจกันใหม่อีกครั้งในตอนนี้ เชื่อว่าอันดับของไทยในการเป็นประเทศที่น่าลงทุนมีโอกาสจะขยับขึ้นไปได้มากกว่าอันดับ 8 ในปัจจุบัน อาจเป็นอันดับ 7 หรือ 6 เพราะตอนนี้ได้เห็นการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้วคือ 24 มี.ค.62 ความไม่แน่นอนทางการเมืองหมดไป จากเดิมที่ทำสำรวจไว้ในช่วง ก.ย. ต.ค.ปีก่อน สถานการณ์การเลือกตั้งของไทยยังอึมครึม" นายศิระระบุ

สำหรับความพร้อมของอาเซียนในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาปฏิวัติธุรกิจนั้น นายศิระ กล่าวว่า ผู้นำธุรกิจตระหนักดีว่า AI กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อกรดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดย 72% ของซีอีโออาเซียน คาดว่าการปฏิวัติของ AI จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงกลางของยุค 90 และ 87% ยังเห็นด้วยว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของตนอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจกลับพบว่า ธุรกิจอาเซียนเกือบ 40% ยังไม่มีการนำ AI เข้ามาใช้งานในปัจจุบัน ขณะที่อีก 32% มีแผนที่จะนำAI เข้ามาใช้งานในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่วนอีก 28% มีการใช้งาน AI ในวงจำกัด และมีเพียง 4% ที่มีการใช้ AI อย่างกว้างขวางและเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร นายศิระ ยังมองว่า ในส่วนของประเทศไทยคาดว่าคงไม่สามารถต้านกระแส AI ได้ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมีการนำเอไอเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจะเริ่มเห็นแล้วจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เข้าไปลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาองค์กรให้มีการปฏิบัติงานที่ทันสมัยมากขึ้น และรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ