น.ส.วรันธร ภู่ทอง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในงานสัมมนา "จับอุณหภูมิเศรษฐกิจปี 62" โดยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีโอกาสเติบโตชะลอลงจากปีก่อนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น นโยบายกีดกันทางการค้า และนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น
ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐนั้น การขยายตัวช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะค่อยๆ แผ่วลงในระยะถัดไป
ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังประสบกับความท้าทายจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจจีนได้เติบโตชะลอลงจากช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของภาครัฐ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้า
ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดว่าปีนี้จะเติบโตชะลอลงเหลือ 4% โดยอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวดี แต่การส่งออกชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากกรณีของสงครามการค้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากแรงส่งของการบริโภคในประเทศยังมีไม่มากพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น
"ปีนี้ เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4% ซึ่งชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว แต่การบริโภค และการลงทุนในประเทศจะยังเติบโตได้ดี ส่วนการส่งออกยังชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน" น.ส.วรันธร กล่าว
ด้านนายสรรค์ อรรถรังสรรค์ ผู้ชำนาญการวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน KBANK กล่าวถึงทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยในปี 62 ว่า เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจาก 4 ปัจจัยที่สำคัญ คือ 1.สถานการณ์การเมืองภายในประเทศมีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 24 มี.ค.62 2.ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีแนวโน้มว่าในปีนี้จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงเหลือเพียงครั้งเดียว จากก่อนหน้าที่เฟดเคยออกมาส่งสัญญาณว่าจะทยอยการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3.ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในสถานะที่เข้มแข็ง หนี้ภาครัฐต่อจีดีพียังอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ต่างชาติยังมั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยและนำเงินเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในตลาดตราสารหนี้ 4.สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับสู่ปกติ จากที่ก่อนหน้านี้ยอดนักท่องเที่ยวจีนหดตัวลงจากปัญหาเรือล่มที่ภูเก็ต ซึ่งเมื่อการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเป็นปกติ ก็ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
"เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงไตรมาสแรก จากพัฒนาการด้านการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ขณะที่ปัจจัยในประเทศนั้น จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งมีการกำหนดวันที่ชัดเจน ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยว ยังกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค" นายสรรค์ กล่าว
พร้อมประเมินว่าเงินบาทมีโอกาสจะกลับมาอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี โดยคาดว่าปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยวที่หมดลง ประกอบกับผลกระทบจากการเจรจาการค้าสหรัฐฯและจีนที่คาดว่าจะยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ และส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นปัจจัยให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี โดยธนาคาร คาดว่า ณ สิ้นปีนี้ เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ