น.ส.วรันธร ภู่ทอง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในงานสัมมนา "จับอุณหภูมิเศรษฐกิจปี 62" โดยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีโอกาสเติบโตชะลอลงจากปีก่อนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น นโยบายกีดกันทางการค้า และนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น
ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐนั้น การขยายตัวช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะค่อยๆ แผ่วลงในระยะถัดไป
ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังประสบกับความท้าทายจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจจีนได้เติบโตชะลอลงจากช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของภาครัฐ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้า
ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดว่าปีนี้จะเติบโตชะลอลงเหลือ 4% โดยอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวดี แต่การส่งออกชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากกรณีของสงครามการค้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากแรงส่งของการบริโภคในประเทศยังมีไม่มากพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น
"ปีนี้ เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4% ซึ่งชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว แต่การบริโภค และการลงทุนในประเทศจะยังเติบโตได้ดี ส่วนการส่งออกยังชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน" น.ส.วรันธร กล่าว
ด้านนายสรรค์ อรรถรังสรรค์ ผู้ชำนาญการวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน KBANK กล่าวถึงทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยในปี 62 ว่า เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจาก 4 ปัจจัยที่สำคัญ คือ 1.สถานการณ์การเมืองภายในประเทศมีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 24 มี.ค.62 2.ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีแนวโน้มว่าในปีนี้จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงเหลือเพียงครั้งเดียว จากก่อนหน้าที่เฟดเคยออกมาส่งสัญญาณว่าจะทยอยการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3.ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในสถานะที่เข้มแข็ง หนี้ภาครัฐต่อจีดีพียังอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ต่างชาติยังมั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยและนำเงินเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในตลาดตราสารหนี้ 4.สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับสู่ปกติ จากที่ก่อนหน้านี้ยอดนักท่องเที่ยวจีนหดตัวลงจากปัญหาเรือล่มที่ภูเก็ต ซึ่งเมื่อการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเป็นปกติ ก็ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
"เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงไตรมาสแรก จากพัฒนาการด้านการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ขณะที่ปัจจัยในประเทศนั้น จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งมีการกำหนดวันที่ชัดเจน ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยว ยังกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค" นายสรรค์ กล่าว
พร้อมประเมินว่าเงินบาทมีโอกาสจะกลับมาอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี โดยคาดว่าปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยวที่หมดลง ประกอบกับผลกระทบจากการเจรจาการค้าสหรัฐฯและจีนที่คาดว่าจะยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ และส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นปัจจัยให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี โดยธนาคาร คาดว่า ณ สิ้นปีนี้ เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน KBANK กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 4.6% โดยเงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค รองลงมา คือเงินหยวนของจีน แข็งค่าไปแล้ว 2.6%
ทั้งนี้ มองว่าในไตรมาสแรกปีนี้ เงินบาทยังมีโอกาสที่จะแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ ส่วนจะแข็งค่าจนสามารถสร้างสถิติใหม่ได้หรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่ยังไม่มีความชัดเจน
อย่างไรก็ดี คาดว่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาอ่อนค่าตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงหมดฤดูกาลท่องเที่ยวแล้วเข้าสู่ช่วง low season, บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทยอยจ่ายเงินปันผลกลับไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมีการนำเงินกลับออกไปถึง 87,000 ล้านบาท นอกจากนี้ อาจจะมีเงินไหลออกจากการถอนเงินตราต่างประเทศในบัญชีเงินฝาก FCD ที่ปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ 16,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง 1-2% ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในแง่ของขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาสินค้า ซึ่งจากการที่เงินบาทค่อยๆ แข็งค่าขึ้นนั้นส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าไทยมีสัดส่วนลดลงในตลาดโลกจากเดิม 1.54% มาอยู่ที่ 1.50% ในขณะที่สภาพคล่องของผู้ส่งออกเริ่มจะลดน้อยลง อันเนื่องจากรายได้ที่แปลงจากดอลลาร์สหรัฐกลับมาเป็นเงินบาทลดลงจากที่เงินบาทแข็งค่า
"เงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแข็งค่าขึ้น 4.6% ถือว่าแข็งค่าสุดในภูมิภาค ซึ่งค่อยๆ เริ่มเห็นผลกระทบต่อการส่งออก เพราะ market share เริ่มถอยลงจาก 1.54% ลงมาเหลือ 1.50% สะท้อนว่าการที่บาทแข็ง ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขัน" นายกอบสิทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ดี ธนาคารยังประเมินแนวโน้มค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 62 ไว้ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ โดยยังคงต้องจับตาความชัดเจนของสถานการณ์ Brexit ที่อาจจะส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลง และหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ แม้ว่าผลการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีสัญญาณที่ดีก็ตาม ขณะเดียวกันต้องติดตามเงินทุนไหลเข้าที่จะกลับมาลงทุนในไทย หลังจากการเมืองไทยที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนนับจากการเลือกตั้งในประเทศวันที่ 24 มี.ค.62
ด้านนายกิตติ เจริญกิจชัยชนะ ผู้บริหารกลุ่มงานขายอนุพันธ์ทางการเงิน KBANK มองว่า ปัจจัยการเมืองภายในประเทศจากที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.62 นั้น หากการเลือกตั้งทั่วประเทศสามารถผ่านไปด้วยดี ก็อาจจะส่งผลให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นบ้างได้ แต่คงไม่มากนัก เพราะน้ำหนักของปัจจัยการเมืองในประเทศต่อค่าเงินบาทอาจจะไม่แรงเท่ากับการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ
"ถ้าการเลือกตั้งผ่านไปได้ดี บาทก็มีโอกาสจะแข็งค่าได้ แต่คงไม่ได้แข็งค่ามากถึงระดับบาท อาจจะเป็นแค่ระดับ 50 สตางค์ เท่านั้น"นายกิตติ กล่าว