กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค.62 การส่งออก มีมูลค่า 18,993.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 5.65% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,026.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.99% ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนม.ค.62 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงกดดันจากภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัว และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะงักงัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังคงยืดเยื้อทำให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อ รวมทั้งผลจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่
ทั้งนี้ การส่งออกเดือนม.ค.62 ยังคงติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน จากเดือนพ.ย. และ ธ.ค.61 เป็นผลมาจาก 5 ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ 1.สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงยืดเยื้อ 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ลงมาอยู่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล 3.มูลค่าการส่งออกทองคำลดลง 36% 4.การส่งออกรถยนต์ในเดือน ม.ค.ติดลบ และ 5.ภาวะเงินบาทแข็งค่า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร และทำให้รายได้จากการส่งออกที่กลับมาในรูปเงินบาทลดลง
"ปัจจัยที่เป็นปัจจัยผันผวนระยะสั้น คือ ราคาน้ำมัน, ทองคำ และรถยนต์ ซึ่งตรงนี้เราไม่กังวลมากเพราะป็นปัจจัยชั่วคราวในระยะสั้นๆ ซึ่งต่างจากปัจจัยสงครามการค้า เชื่อว่าจะยังคงมีต่อเนื่องไปตลอดทั้งไตรมาสแรก" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกซึ่งต้องติดตามต่อเนื่องไปอีก 1-2 ไตรมาส คือ การบังคับใช้ FTA ของเวียดนาม-สหภาพยุโรป และ FTA เวียดนาม-ญี่ปุ่น ตลอดจนกรณีที่สินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งปัจจัยนี้คงไม่สามารถจะมองข้ามได้ เนื่องจากการตั้งราคาสินค้าต่างๆ หากอัตราภาษีต่างกันเพียงเล็กน้อย ก็จะมีผลต่อราคาสินค้าและความสามารถในการแข่งขันให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบได้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการส่งสินค้าที่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีเก่า ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีการลงทุนและส่งออกสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีใหม่เข้าสู่ตลาดให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 2.9% ลดลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ส่งออกลดลง คือ ยางพารา, น้ำตาลทราย, มันสำปะหลัง ส่วนข้าวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังขยายตัวได้ดี เช่น ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป, เครื่องดื่ม เป็นต้น
"สินค้าข้าว, มัน, ยาง มีแนวโน้มการแข่งขันสูงขึ้น จากการนำเข้าที่เริ่มลดลง โดยเฉพาะยางพาราที่จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ายางรายใหญ่จากไทย จะเริ่มปลูกยางเอง ทำให้ demand ไม่โต เราอาจจะต้องหันมาจำกัดปริมาณการผลิตยางอย่างจริงจัง...แม้เงินบาทจะอยู่ในระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ แต่สินค้าเกษตรไทยยังไปได้ดี เพราะสินค้าเรามีคุณภาพ โดยเฉพาะข้าว, มัน, อาหารทะเล และผลไม้ ดังนั้นเราต้องรักษามาตรฐานในส่วนนี้ไว้" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว
ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสำคัญปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัว โดยการส่งออกไปตลาดหลักในภาพรวม ขยายตัว 1.7% ตลาดศักยภาพระดับรอง ติดลบ 8.1% เป็นผลจากการหดตัวของการส่งออกไปจีน ไต้หวัน และฮ่องกง ขณะที่ตลาดศักยภาพรอง ติดลบ 5.2% เนื่องจากการส่งออกไปตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ละตินอเมริกา แอฟริกา และกลุ่มประเทศ CIS ลดลง
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกในปี 62 ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงใน 4 ปัจจัยหลัก คือ 1.การชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ 2.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปทานและสต็อกล้นตลาด กดดันรายได้และการส่งออกของกลุ่มประเทศเกิดใหม่รวมทั้งไทย 3.แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าซึ่งเป็นตัวกดดันรายได้ของผู้ส่งออก 4.ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังกดดันบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลก
สำหรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8% จะมีการทบทวนหรือไม่นั้น น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า จะขอประเมินภาพรวมการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกก่อน แต่ยอมรับว่าการส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้ตัวเลขอาจจะออกมาไม่ค่อยดีนัก คงต้องรอให้ปัจจัยที่มีความผันผวนและปัจจัยที่เข้ามากระทบชั่วคราวได้หมดไปก่อน จึงจะสามารถประเมินภาพรวมการส่งออกในปีนี้ใหม่อีกครั้ง
"เป้าทั้งปีจะยังคงไว้ที่ 8% หรือไม่นั้น คงต้องขอดูตัวเลขไตรมาสแรกก่อน รอให้ปัจจัยที่ผันผวนหมดไปก่อน ตัวเลขอาจจะออกมาไม่ค่อยสวยงามนัก แต่เชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 2...ปัจจัยที่คุมไม่ได้ และกระทบกับส่งออกมากกว่าบาทแข็ง คือเรื่องราคาน้ำมัน เพราะหากราคายังลงไปอีก ก็จะมีแนวโน้มกระทบต่อการส่งออกได้มากกว่า" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
ทั้งนี้ หากจะทำให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย 8% ที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้นั้น มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนจะต้องทำได้ไม่น้อยกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ แต่หากทำได้เดือนละ 22,374 ล้านดอลลาร์ การส่งออกจะเติบโตได้ 5% และหากทำได้เดือนละ 21,915 ล้านดอลลาร์ การส่งออกจะเติบโตได้ 3%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่า ผู้ส่งออกไทยควรใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบตลอดจนเครื่องจักร หรือการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมทั้งต้องไม่ลืมทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ
ในภาวะที่การส่งออกไทยเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลายนั้น ทำให้ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน พิจารณากระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาตลาดหรือห่วงโซ่อุปทานเป็นหลักเพียงตลาดเดียว รวมถึงเตรียมกลยุทธ์ทางการค้าให้พร้อมอยู่เสมอ เช่น สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ พัฒนาช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น