พ.อ.นที สุกลรัตน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกกะเฮิรตซ์ มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต แผนความถี่ย่าน 700 เมกกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการโทรคมนาคม
ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญหลังเปลี่ยนผ่านกิจการโทรทัศน์จากอะนาล็อกสู่ดิจิทัล ก็ควรปรับการใช้คลื่นความถี่ให้เป็นสากล โดยเอาคลื่นความถี่ไปใช้ในกิจการที่มีมูลค่าสูงกว่า ความถี่ย่าน 700 เมกกะเฮิรตซ์ เป็นความถี่ที่มีมูลค่าสูงสามารถเอาไปใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)กำหนดให้นำไปใช้ในการใช้สำหรับเทคโนโลยี 5G ในส่วนบริการ IOT (Internet of Things)
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียกคืนคลื่นสำหรับประเทศไทยค่อนข้างซับซ้อน โดยจะต้องทำแผนคลื่นความถี่สำหรับกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ จากนั้นจึงทำการประเมินราคาโดยจะต้องใช้เวลารวมกันประมาณ 8 เดือน การประมูลจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดประมาณเดือน ธ.ค.62 จากนั้นต้องมีกระบวนการในการปรับปรุงโครงข่ายโดยน่าจะใช้ได้เร็วสุดในเดือนธ.ค.63
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าประโยชน์ที่จะได้จากการประมูลคลื่นความถี่และนำไปพัฒนา 5G จะทำให้เกิดประโยชน์ทางตรงต่อมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 248,400 ล้านบาท และมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพิ่มขึ้นะ3.54%
พ.อ.นที กล่าวว่า การเรียกคืนครั้งนี้เป็นการเรียกคืนจากผู้ที่ได้คลื่นไปก่อนจะมีการนำไปใช้ในกิจการทีวีดิจิทัล และจากผู้ที่ประมูลคลื่นความถี่ไปให้บริการโทรทัศน์ สำหรับการจ่ายค่าชดเชยช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลผู้ประกอบการยังคงต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามเงื่อนไข โดยจะสามารถนำใบเสร็จรับเงินมายื่นกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
"เรื่องนี้เป็นหนังเรื่องยาวไม่ใช่เรื่องสั้น ไม่ได้จะดึงเวลาแต่กระบวนการต้องใช้เวลา คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ กสทช.ก็พยายามทำให้ดีที่สุด จะประมูลเร็วไปเพื่ออะไรเมื่อการให้บริการ 5G จะเกิดขึ้นทั่วโลกปี 63"พล.อ.นที กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอให้สำนักงานฯ จัดทำแผนการปรับเปลี่ยนความถี่และโครงข่ายให้ชัดเจน โดยตามกำหนดสำนักงานฯ ต้องทำแผนให้เสร็จภายใน 8 เดือน เพื่อทำแผนปรับปรุงโครงข่ายอีก 60 วัน แล้วจึงมีการปรับปรุงโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรทัศน์