น.ส.เกตสุดา สุประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธานร่วมกับนาย Ramesh Subramaniam ตำแหน่ง Director General, Southeast Asia Department ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ "นวัตกรรมการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนอย่างยั่งยืน (ASEAN Workshop on Innovative Financing Approaches for Sustainable Infrastructure)
ทั้งนี้ จากการที่ภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉลี่ย 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่งผลให้การลงทุนโดยใช้เงินงบประมาณภาครัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้ได้อย่างยั่งยืน จึงต้องมีนวัตกรรมในการจัดหาเงินทุนจากนักลงทุนสถาบัน เอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณภาครัฐและเพื่อให้เอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน
โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จึงได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็น มุมมอง และประสบการณ์จากประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการเงินต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน โดยแบ่งการหารือออกเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 1) Green Finance เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น พันธบัตรหรือหลักทรัพย์ โดยมีความท้าทายในการทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในอาเซียน 2) Blended/Leveraged Finance เป็นการใช้เงินทุนจากภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นการลงทุน ร่วมลงทุน และ/หรือ เป็นกลไกลดความเสี่ยงในช่วงเริ่มต้นดำเนินกิจการ เพื่อดึงดูดการลงทุนมูลค่าสูงจากเอกชน 3) Blue Bonds เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อใช้ในโครงการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งและทรัพยากร ทางทะเล
2. นวัตกรรมการระดมทุน ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน เช่น Thailand Future Fund และโครงการ SDG Indonesia One ของประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
3. แนวนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยสามารถสรุปข้อเสนอแนวนโยบายได้ 5 ข้อ ดังนี้
(1) พัฒนากรอบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public-Private Partnership: PPP)
(2) ส่งเสริมการเพิ่มความน่าเชื่อถือของตราสาร (Credit Enhancement) และเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว
(3) ส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในอาเซียนให้เป็นมาตรฐาน เช่น การมีกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านนวัตกรรมทางอาเซียน เป็นต้น
(4) ดำเนินโครงการนำร่อง (Pilot Projects) ที่ใช้นวัตกรรมทางการเงินในภาคส่วนต่าง ๆ
(5) สร้างความตระหนักถึงนวัตกรรมทางการเงิน และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับนวัตกรรมทางการเงินในอาเซียน
ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies’ Working Group Meeting: AFCDM-WG) และคณะทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบอาเซียน ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-16 กุมภาพันธ์ 2562 ณ กรุงเทพฯ