นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวถึงความคืบหน้าในการควบรวมกิจการระหว่าง TMB กับธนาคารธนชาติ (TBANK) ว่า ขณะนี้ได้ขอให้คณะกรรมการบริหารของ TMB เร่งพิจารณากระบวนการควบรวมระหว่าง 2 ธนาคารดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเซ็น MOU ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ ก่อนจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ครม.) อนุมัติต่อไป
"ถ้าจะมาร่วมทุน ก็ต้องดูโครงสร้างเงินเดือนว่าอยู่แท่งเดียวกันไหม ที่นั่งในการบริหาร จะมีการประเมินราคาทรัพย์สินอย่างไร อะไรบ้างที่จะรับโอนหรือไม่รับโอน มันมี detail จะต้องดูอีกเยอะมาก ซึ่งได้ให้บอร์ดบริหารไปพิจารณา ถ้าคุยจบก็ทำ MOU กัน จะพยายามเร่งให้จบเร็วที่สุด น่าจะภายในไตรมาสแรกนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีกับประเทศไทย ที่จะมีธนาคารที่มีความมั่นคงเกิดเพิ่มขึ้น" นายประสงค์กล่าว
ส่วนขั้นตอนหลังจากนั้น จะเป็นการเข้าสู่กระบวนการพิจารณารายละเอียดต่างๆ ในการควบรวม ไม่ว่าจะเป็นการประเมินราคาทรัพย์สิน, โครงสร้างของผู้บริหารและพนักงาน, โครงสร้างเงินเดือน, การปรับลดสาขา เป็นต้น ซึ่งในขั้นตอนนี้คาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน
นายประสงค์​ กล่าวถึงการพิจารณาของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ต่อการใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นว่า กระทรวงการคลังมองว่า การใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นน่าจะก่อให้เกิดความคุ้มค่า เนื่องจากเห็นโอกาสจากผลตอบแทนที่จะสูงขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการกันของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งธนาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้จะมีทุนที่เพียงพอต่อการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สามารถทำกำไรได้มากขึ้น โดยธนาคารใหม่ที่ควบรวมกันนี้แม้ขนาดอาจจะยังอยู่เท่าเดิมที่อันดับ 5-6 แต่สัดส่วนของทุนจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
"แบงก์ทหารไทยในอดีตขาดทุนสะสมเยอะมาก แต่วันนี้พ้นจากการขาดทุนสะสมมาแล้ว เรามีกำไรสะสมแล้ว ราคาพาร์ของธนาคารจาก 1 บาท ตอนนี้เพิ่มเป็น 2 บาทกว่าแล้ว แบงก์อื่นพาร์ 1 บาท ขายกัน 15, 20, 30, 100 บาท ถามว่าโอกาสของแบงก์ทหารไทยถ้าแข็งแรงแล้ว โอกาสที่จะดีขึ้นมีหรือไม่ ทำไมจะดีขึ้นไม่ได้ ถ้าเราแข็งแรง...ถ้าคลังดูว่าสินค้านั้นดี คลังก็พร้อมจะเพิ่มทุน แต่เราก็เพิ่มตามสัดส่วนของเรา และผู้ถือหุ้นรายย่อยก็มีสิทธิจะเพิ่มทุนได้ ตามสัดส่วนของตัวเอง" นายประสงค์ระบุ