นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นถึงนโยบายหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องผูกพันกับการใช้งบประมาณรายจ่ายของประเทศว่า ต้องการให้ประชาชนพิจารณาอย่างรอบคอบต่อนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะสามารถนำมาสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เนื่องจากแต่ละนโยบายย่อมมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณที่จะนำมาใช้ ดังนั้นต้องดูว่านโยบายใดที่จะมีความเป็นไปได้จริง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังไม่ห่วงว่านโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองหากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว จะกลายเป็นภาระงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เข้ามาช่วยกำหนดกรอบการใช้งบประมาณรายจ่ายของประเทศในแต่ละปีไว้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมาก เช่น การตั้งงบกลางจะทำได้เท่าใด และต้องตั้งงบใช้คืนในระยะเวลาใด ซึ่งการจัดทำนโยบายหาเสียงที่ผูกพันกับงบประมาณรายจ่ายของประเทศในจำนวนมาก จะกระทบต่อรายจ่ายประจำ, การชำระหนี้ของประเทศ รวมทั้งงบลงทุนในแต่ละปีด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
"นโยบายหาเสียงจะเป็นแบบไหนก็ตาม แต่งบประมาณมีอยู่จำกัด ถ้ามันไปไม่ได้ กระทบกับการบริหารหนี้คืน กระทบงบลงทุน ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องดูสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นประโยชน์ต่อรัฐ และเมื่องบประมาณลงไปแล้วต้องเกิดประโยชน์ในระยะยาวได้ เพราะทุกนโยบายไม่ใช่จะนำมาสู่การปฏิบัติได้ทุกอย่าง มันต้องขึ้นกับเงินที่จะมีให้ใช้ด้วย" นายประสงค์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้มีการกำหนดวงเงินสำหรับการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลไว้ที่ประมาณ 2-3% ของกรอบงบประมาณรายจ่าย หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ถือว่าไม่ใช่วงเงินที่สูงมากนัก ดังนั้นรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาจำเป็นต้องตัดสินใจให้รอบคอบว่านโยบายใดเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการก่อน โดยต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ดี
ขณะที่ในปีงบประมาณรายจ่าย 63 นั้น รัฐบาลได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลใหม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงวงเงินรายจ่ายเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ใหม่ ก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมีการปรับปรุงงบประมาณใหม่ก่อน