สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ 107.99 ขยายตัว 0.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 70.47% โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อ MPI ได้แก่ ยานยนต์, เครื่องปรับอากาศ และน้ำตาล ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
"ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนแรกปี 2562 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 0.18% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัว" นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI เดือนมกราคม 2562 ได้แก่ รถยนต์ เพิ่มขึ้น 8.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพ 1 ตัน รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์ขนาดเล็ก ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยเป็นผลจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ผลิต
เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้น 15.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก และประหยัดพลังงาน โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตลาดในประเทศขยายตัวถึง 23.81% และส่งออกขยายตัว 9.98% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตลาดในประเทศอิรัก เวียดนาม และอินโดนีเซีย
น้ำตาล เพิ่มขึ้น 3.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุจากโรงงานทุกแห่งต้องเร่งผลิตให้ทันกับปริมาณอ้อยที่เข้าหีบ
น้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้น 1.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันเครื่องบิน แก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเบนซิน 95 ที่เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัว
ยา เพิ่มขึ้น 9.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ประเภทยาเม็ด ยาน้ำ ยาแคปซูล และยาครีม เนื่องจากมีการเร่งผลิตเพื่อรักษาระดับสต็อกของผู้ผลิต ได้แก่ ยาธาตุน้ำขาว ยาแก้ไอ ยาลดไข้สำหรับเด็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ สศอ. ได้ปรับปรุงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2562 ให้ครอบคลุมสำมะโนอุตสาหกรรมจากเดิม 61.50% เพิ่มขึ้นเป็น 64.20% โดยได้เพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยจาก 65 กลุ่ม (231 ผลิตภัณฑ์) เป็น 68 กลุ่ม (255 ผลิตภัณฑ์) พร้อมเปลี่ยนปีฐานการคำนวณจากปี 2554 มาเป็นปี 2559 เพื่อให้มีความครอบคลุมและสะท้อนกับโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันมากขึ้น
สำหรับประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลต่อการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้า และกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากเดิมในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทยแต่จะต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วสถานการณ์การค้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร
นายณัฐพล กล่าวว่า ในปี 62 สศอ.ยังคงคาดการณ์ MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ไว้ที่ 2-3%
ด้านความคืบหน้าการเข้าร่วมมาตรฐานการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ทุกคันให้เป็นมาตรฐาน Euro 5 ภายในปี 2564 นายณัฐพล กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทรถยนต์ 10 ยี่ห้อ ตอบรับมาแล้ว โดยรายล่าสุดที่ตอบรับเข้ามา คือ Nissan จากก่อนหน้านี้มี 9 ยี่ห้อ คือ BMW, GM, Isuzu, Mazda, Mercedes-Benz, Mitsubishi, MG, Suzuki และ Toyota