พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้
1. การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีวงเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 23,018.81 ล้านบาท จากเดิม 1,828,119.18 ล้านบาท มาเป็น 1,851,137.99 ล้านบาท
2. การบรรจุโครงการพัฒนาหรือโครงการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1
3. ให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่ และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่งดังกล่าว รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย
พล.ท.วีรชน กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมครม. ยังได้อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มา และการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินโครงการลงทุนและการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้กระทรวงการคลังให้กู้ต่อแก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวนไม่เกิน 15,025.52 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินกู้ต่อเดิมของ รฟม. เพื่อรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาเงินยืม จำนวนไม่เกิน 4,122.28 ล้านบาท และเรียกเก็บเงินยืมที่ไม่มีดอกเบี้ยกับ กทม.
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า จากการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ส่งผลให้หนี้สาธารณะรวม ปรับเพิ่มขึ้น 23,018.81 ล้านบาท โดยการก่อหนี้ใหม่มีปัจจัยหลักมาจากการกู้เพื่อลงทุนในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 32,774.62 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
รวมทั้ง ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการพัฒนาและโครงการที่แต่เดิมไม่ได้บรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยจะขอบรรจุเพิ่มเติมและเสนอขออนุมัติมาในครั้งนี้ รวม 6 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 28,291.45 ล้านบาท เช่น 1.โครงการเงินกู้เพื่อรองรับการดำเนินงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) รวมถึงให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ SMEs รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลอื่น ๆ (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) จำนวน 21,000 ล้านบาท
2.โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จำนวน 2,700 ล้านบาท 3.โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) จำนวน 1,891.45 ล้านบาทเป็นต้น
ในขณะที่การบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจปรับลดลง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ชำระคืนหนี้เงินกู้จากเงินงบประมาณ จำนวน 13,730.24 ล้านบาทแล้ว ประกอบกับยังไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากในปีงบประมาณ 2561 ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ วงเงิน 25,000 ล้านบาทไปแล้ว ซึ่งสัญญาจะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2563
ทั้งนี้ ประมาณการหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2562 (ปรับปรุงครั้งที่ 1) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิมอยู่ในระดับ 42.70% (ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 43.32% ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 และอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามนัยมาตรา 50 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังของรัฐกำหนดที่ระดับ 60%