พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายเวลาการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up & Innobiz) ที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.61 ออกไปอีก 2 ปี พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นวงเงินไม่เกิน 1,360 ล้านบาท โดยขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และปีต่อๆ ไปตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
"เป็นการขยายเวลาโครงการเดิมที่หมดอายุ แต่มีเงินเหลืออยู่ 8,000 ล้านบาท ปรับเงื่อนไขใหม่เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน และปรับวงเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ" พล.ท.วีรชน กล่าว
ทั้งนี้ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินโครงการจัดทำประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมด และแจ้งให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและ กระทรวงการคลังทราบ และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วให้ บสย.เสนอรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม.และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ
สำหรับผลการดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บสย.ได้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SME ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) จำนวนทั้งสิ้น 1,212 ราย วงเงินค้ำประกันรวม 1,994 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายกรอบวงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาทที่กำหนดไว้ เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการ รวมถึงวงเงินค้ำประกันต่อรายอาจยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่ ได้แก่ วงเงินค้ำประกันต่อรายรวมทุกสถาบันการเงินสำหรับผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) ที่เป็นบุคคลธรรมดา จากเดิม 1 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลจากเดิม 5 ล้านบาทเป็นไม่เกิน 10 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Innobiz) ที่เป็นนิติบุคคลจากเดิม 1 ล้านเป็นไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลจากเดิม 10 ล้านบาทเป็นไม่เกิน 40 ล้านบาท
ค่าธรรมเนียมค้ำประกันอัตราไม่เกิน 1.5% ต่อปีของวงเงินค้ำประกันตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดย บสย.สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่รัฐบาลจ่ายแทน SMEs ในแต่ละปี ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ โดย บสย. ขอรับเงินสมทบการจ่ายค่าประกันชดเชยและค่าธรรมเนียมค้ำประกันรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,360 ล้านบาท โดยคาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 4,000 ราย (เฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อราย) และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 8,000 ล้านบาท (1 เท่า)
"โครงการนี้มีระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี แต่ต้องยื่นรับคำขอภายใน 2 ปี" พล.ท.วีรชน กล่าว