นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX : TCC-CI) ประจำเดือน ม.ค.62 อยู่ที่ระดับ 48.0 ลดลงจากเดือนธ.ค.61 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.4 ขณะที่มุมมองต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคต ช่วง 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 49.9 จากเดิมที่ 50.6
โดยปัจจัยที่มีผลกระทบในเชิงลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ได้แก่ ปัญหาความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/61, ความกังวลสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน, ความวิตกกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพที่อยู่ในระดับทรงตัวแต่ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง, การปรับตัวลดลงของการลงทุนภาคเอกชน, การลดลงของการค้าชายแดน, ปัญหาการส่งออก และความผันผวนของค่าเงินบาท
ขณะที่ยังมีปัจจัยด้านบวก เช่น การประกาศจัดการเลือกตั้งในเดือนมี.ค.62 และปลดล็อคการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง, นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น, การใช้จ่ายและการลงทุนต้นปีงบประมาณของภาครัฐ, การนำเข้าและการส่งออกยังมีสัญญาณการเติบโต, การจ้างงานในอุตสาหกรรมบริการ สำหรับดำเนินกิจการในช่วง High Season รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 5 เดือน
ทั้งนี้ ในผลสำรวจยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชน ดังนี้ 1.ต้องเร่งกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจ 2.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค และด้านคมนาคมในประเทศ 3.แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 4.หามาตรการเพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้ประชาชน 5.ส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 6.ชี้แจงการใช้งบประมาณของภาครัฐเพื่อความโปร่งใส
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการสำรวจข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคในปัจจุบัน และคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้าว่า 1.กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวในช่วงปลายปี, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล, การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และมาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ช่วงตรุษจีน แต่ยังมีปัจจัยลบ เช่น ค่าครองชีพในเมืองของประชาชน, ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ, การแข่งขันทางธุรกิจที่สูง และต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น โดยต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ พัฒนาสินค้าเกษตร เนื่องจากมีราคาตกต่ำ, ปัญหากำลังซื้อของประชาชน และสภาพคล่องทางการเงิน และส่งเสริมอาชีพให้ประชาน
2. ภาคกลาง มีปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงต้นปีงบประมาณ, การขยายตัวของการท่องเที่ยวเมืองรอง, ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสำหรับการลงทุนธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา, การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ กำลังซื้อของประชาชนทรงตัว, ปัญหาราคาสินค้าเกษตร, การพัฒนาชุมชนยังขาดความต่อเนื่อง, ปัญหาการค้าชายแดน โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม, ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
3. ภาคตะวันออก มีปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโต, การท่องเที่ยวหัวเมืองชายทะเล, การขยายตัวของธุรกิจภาคบริการในพื้นที่จากการท่องเที่ยว โดยยังมีปัจจัยลบสำคัญ คือ ปัญหาการท่องเที่ยวที่ซบเซา, การชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง และการชะลอตัวของการค้าชายแดน โดยสื่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ ผลักดันธุรกิจ SMEs ในชุมชน, ส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน, กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว, ภาวะการบริโภคและการค้ามีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาการค้าชายแดนที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร, ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้ต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ , พัฒนาศักยภาพการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ, รักษาเสถียรภาพของประเทศ, แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืน และเร่งดำเนินการด้านคมนาคมให้มีความสะดวก
5. ภาคเหนือ มีปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น การลงทุนของภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน, เป็นช่วงการท่องเที่ยวของภาคเหนือ แต่ก็ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ การลงทุนด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยังไม่เติบโตมาก, ค่าครองชีพที่สูงขึ้น, การค้าชายแดนปรับตัวลดลง และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยต้องการให้ภาครัฐเข้ามาเร่งแก้ไข เช่น ปัญหาการว่างงาน, ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนมีรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
6. ภาคใต้ มีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวในช่วงปลายปีที่ยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการที่ยังคงเติบโตได้ แม้จะมีการชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น ความไม่สงบของปัญหาชายแดนภาคใต้ และภัยพิบัติจากพายุปาบึก โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ไข คือ ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชน, สนับสนุนการพัฒนามูลค่าสินค้าเกษตร และเร่งรัดโครงการต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากประธานกรรมการหอการค้าจังหวัด และกรรมการหอการค้าแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวม 331 ตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. - 8 ก.พ.62