ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562 พบว่า สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลงจากปัจจัยฤดูกาล โดยเฉพาะการชำระคืนหนี้ในฝั่งภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี ประกอบกับธนาคารยังกังวลกับคุณภาพหนี้ของเอสเอ็มอีที่ในปี 2561 ยังมีแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560
ทั้งนี้ การชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีในเดือน ม.ค. มีผลให้ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อลดลงจากเดือนก่อน 6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 0.52% ซึ่งเป็นการลดลงเกือบทุกธนาคาร ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวดี จากแรงส่งของสินเชื่อหลักทั้งสินเชื่อบ้านที่ยังอยู่ในช่วงเร่งโอนรับมอบก่อนมาตรการกำกับสินเชื่อบ้านของ ธปท.จะมีผลในเดือน เม.ย. ซึ่งทำให้คาดว่าโมเมนตัมการเติบโตของสินเชื่อบ้านจะยังเร่งตัวขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งบางส่วนเป็นผลจากการจองซื้อในงานมหกรรมยานยนต์และช่วงท้ายปีที่ส่งมอบรถในต้นปี ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลฯ ชะลอตามการชำระคืนหนี้
ด้านเงินฝากในเดือน ม.ค.2562 ขยับขึ้นจากเงินฝากภาครัฐและเงินฝากพิเศษบางธนาคาร ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไปในอัตรา 0.25% ของธนาคารบางแห่งในเดือนนี้ ยังไม่ปรากฏผลต่อการเปลี่ยนแปลงฐานเงินฝากอย่างชัดเจน โดยยอดคงค้างเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือ 0.59% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในธนาคารขนาดใหญ่ 2 แห่ง ซึ่งมีเงินฝากภาครัฐที่ไหลเข้ามาพักไว้ในบัญชีประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์ และมีการออกแคมเปญเงินฝากพิเศษระยะสั้น นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่มีแคมเปญเงินฝากพิเศษระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนแรกของปีนี้ ผ่อนคลายลงจากเดือนก่อน ซึ่งเมื่อประกอบกับการปล่อยสินเชื่อในช่วงต้นปีที่เร่งขึ้นเฉพาะบางกลุ่มลูกค้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภายใต้เงื่อนไขด้านสภาพคล่องของธนาคาร จะยังไม่เป็นปัจจัยนำที่ผลักดันให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเงินฝากที่ชัดเจน จนส่งผลต่อการปรับขึ้นโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั้งระบบ แต่จังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป คงยังต้องรอการส่งสัญญาณเชิงนโยบายของ ธปท. ควบคู่กับการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงหลังการเลือกตั้ง
สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม (LTD+Borrowings) ชะลอตัวมาที่ระดับ 91.88% ขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวม (LTA) ขยับขึ้นมาที่ 21.51% จากเดือน ธ.ค. 2561 ที่ระดับ 92.71% และ 21.00% ตามลำดับ