พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รวม 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี ได้แก่ สถานีพระราม 6, สถานีบางกรวย - การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และสถานีบ้านฉิมพลี ในกรอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – Auction) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 หรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด
ทั้งนี้ ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปี และหรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4)
2. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต โดยอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต ในกรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – Auction) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 หรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด
ทั้งนี้ ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้ สงป. จัดสรรงบประมาณรายปี หรือ กค. จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4)
พร้อมอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต ตามที่ คค.เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 และได้รับการบรรจุอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action plan) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 และ 13 ธันวาคม 2559 เห็นชอบและรับทราบแผนดังกล่าวตามลำดับแล้ว อีกทั้งคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบทั้ง 2 โครงการแล้ว
โดยทั้ง 2 โครงการเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟชานเมืองสายสีแดงทางฝั่งทิศเหนือ และทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟทางไกล และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้อย่างสะดวกมากขึ้น
กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ทั้ง 2 โครงการ เป็นการก่อสร้างทางรถไฟเลียบไปตามแนวเขตทางรถไฟทางไกล โดยจะเป็นรางขนาด 1 เมตร เดินรถด้วยระบบไฟฟ้าที่จ่ายเหนือหัว (OCS) แรงดันไฟฟ้า AC 25 กิโลโวลต์ รถไฟมีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประกอบด้วย ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมรถไฟ ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ระบบไฟฟ้ากำลัง และแม้ว่าตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมจะกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี แต่กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2565 โดยแต่ละโครงการมีวงเงินโครงการ ระยะทาง และจำนวนสถานี สรุปได้ ดังนี้
1 ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย – กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายทางทิศตะวันตกจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน และก่อสร้างสถานีใหม่ จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สถานีสะพานพระราม 6 และสถานีบางกรวย – กฟผ. สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา
2 ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายทางทิศเหนือจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต ประกอบด้วย 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้งนี้ จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติมประมาณ 14 ไร่ เพื่อนำที่ดินมาสร้างสถานีทั้ง 4 แห่ง
กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ทั้ง 3 โครงการมีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) และทางเศรษฐกิจ (EIRR) โดยช่วงตลิ่งชัน-ศาลยา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย – กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) มีความคุ้มค่าทางการเงินทั้ง FIRR และ EIRR คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ส่วนช่วงรังสิต-ม. ธรรมศาสตร์ ไม่คุ้มค่าทางการเงิน FIRR แต่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ EIRR แม้ว่าโครงการนี้จะไม่มีความคุ้มค่าทางการเงิน แต่กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะทำให้ปริมาณ ผู้โดยสารสายสีแดง ทั้งระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ (Induced demand) ซึ่งจะทำให้รายได้ค่าโดยสารของสายสีแดงทั้งระบบเพิ่มมากขึ้น
สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต นั้น เป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบ้านปทุม อำเภอสามโคก ตำบลบางพูด ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี และตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างทางเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท อย.5042 กับสถานีรถไฟ ทางรถไฟ และย่านสถานีรถไฟ ตามโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งแนวเส้นทางอยู่ในเขตที่ดินของ รฟท. แต่มีบางพื้นที่จำเป็นต้องเวนคืนเพื่อก่อสร้างสถานีและถนนทางเข้าสถานี เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการสำรวจ และเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน อันจะทำให้การสร้างทางเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบทสายดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม คาดว่า สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร 47,570 คน-เที่ยว/วันในปีเปิดให้บริการ
ส่วนสายสีแดงช่วง รังสิต-มธ.รังสิต จะมีปริมาณผู้โดยสาร 28,150 คน-เที่ยว/วันในปีเปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 64,080 คน/วัน ภายใน 20 ปี