สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) จะติดตามปัญหาซับไพร์มที่อาจมีผลกระทบต่อตลาดเงินโลกในช่วง 1 เดือนจากนี้ ก่อนประเมินว่าจะเกิดผลกระทบต่อภาระหนี้ของประเทศ และแผนการระดมทุนอย่างไร เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ แต่ ณ ขณะนี้แผนระดมทุนของภาครัฐทั้งเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการลงทุนในโครงการต่าง ยังคงเดิม
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า การระดมเงินทุนของภาครัฐส่วนใหญ่จะเป็นการกู้จากแหล่งเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรนอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าภาระหนี้สาธารณะของไทยในปี 51-55 ยังจะอยู่ในระดับต่ำที่ 40% ของจีดีพี หากไม่เกิดวิกฤตรุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นในขณะนี้
และจากวิกฤตซับไพรม์แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการบริหารหนี้ แต่คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่เลวร้ายลงหรือไม่ เพื่อปรับแผนการบริหารหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคาดว่าในอีก 1 เดือน จึงจะสามารถคาดการณ์แนวโน้มตลาดได้
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า สำหรับโครงการเมกะโปรเจ็คต์ที่ต้องระดมเงินทุนมาใช้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้น ยังต้องใช้การกู้เงินในรูปของสกุลดอลลาร์ที่มีระยะยาว 20-30 ปี ทั้งนี้แผนการกู้เงินในตลาดต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมให้สอดคล้องกับระยะเวลาการใช้คืนเงิน โดยหากเป็นเงินกู้ระยะยาว 20-30 ปี จะต้องกู้เป็นสกุลดอลลาร์ แต่หากกู้เงินระยะ 10-20 ปี ต้องกู้ในตลาดเงินยูโร ขณะที่การกู้เงินระยะสั้นสามารถระดมเงินจากตลาดในประเทศได้อยู่แล้ว
พร้อมมองว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เชื่อว่าจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยลงตาม เนื่องจากเห็นสัญญาณว่าตลาดได้ปรับลดดอกเบี้ยรอแล้ว ซึ่ง yield curve ได้ปรับลดลงไปแล้วประมาณ 0.8-1% ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่ทำให้การออกพันธบัตรหรือตราสารหนี้ทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนลดลง
ขณะเดียวกันหลังเกิดปัญหาวิกฤติจะทำให้ตลาดหันไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น และเชื่อว่าตลาดเงินเยนจะได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจากตลาดตราสารที่เป็นเงินดอลลาร์มีปัญหา และถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้ไทยจะออกพันธบัตรในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งตราสารหนี้ของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว และคาดว่าจะได้รับการเข้ามาลงทุนเช่นกัน
นายพงษ์ภาณุ คาดว่า หนี้สาธารณะของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากเหตุผลสำคัญ 5 ประการ คือ ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 38% ของ GDP ถือว่าเป็นระดับที่ไม่น่าห่วง อีกทั้งยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง, หนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 13% ของพอร์ตหนี้ทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐบาลและปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว
นอกจากนี้ หนี้ต่างประเทศกว่า 4 แสนล้านบาท เป็นเงินสกุลดอลลาร์เพียง 23% ส่วนใหญ่เป็นสกุลเยนจึงไม่มีความเสี่ยงโดยตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น, หนี้ทั้งหมดเป็นหนี้ระยะยาวถึง 85% ดังนั้นความผันผวนระยะสั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยของพอร์ตหนี้ทั้งหมด และประการสุดท้ายดอกเบี้ยของพอร์ตหนี้ส่วนใหญ่ 80% เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--