สศค. เผยการบริโภคลงทุนภาคเอกชน-ท่องเที่ยว ยังเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนม.ค.62 ขยายตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 27, 2019 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2562 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมกราคม 2562 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

  • ภาคตะวันออก

เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัว 6.6% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา และตราด เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัว 18.9% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจาก ยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ซึ่ง ขยายตัว 5.5% และ 11.9% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นสำคัญ นอกจากนี้เงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 27,082 ล้านบาท ตามการลงทุนในจังหวัดระยองและชลบุรี เป็นสำคัญ จากการลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนมกราคม ปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 113.3 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 9.2% ต่อปี จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม ปี 2562 ปรับตัวลดงมาที่ -0.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • กทม.และปริมณฑล

เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัว 34.8% และ 41.8% ต่อปี จากการขยายตัวในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และนครปฐม เป็นต้น สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 5,033 ล้านบาท ขยายตัว 38.2% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการ และปทุมธานี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัว 29.8% และ 1.4% ต่อปี ตามลำดับ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.4% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 9.9% ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ 1.0% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคกลาง

เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัว 9.3% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 22.7% ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 31.3% และ 6.9% ต่อปี ตามลำดับ

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ในเดือนมกราคม ปี 2562 ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 97.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัว 6.9% และ 9.7% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ -0.9% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัว 8.1% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ และอุบลราชธานี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวที่ 18.1% เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 23.9% และ 2.9% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม และสุรินทร์ เป็นต้น นอกจากนี้มีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 ที่ 929 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ในจังหวัดชัยภูมิและหนองบัวลำภู เป็นสำคัญ

ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัว 5.9% และ 8.8% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมกราคมเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ 0.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคเหนือ

เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัว 5.9% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัว 10.1% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพิจิตร เชียงใหม่ และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจาก ยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัว 25.3% และ 13.2% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ ลำปาง และเพชรบูรณ์ เป็นต้น

ด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ 7.1% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 0.0% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคตะวันตก

เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัว 14.4% ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 ที่ 1,143 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณในจังหวัดเพชรบุรี เป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวที่ 10.8% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัว 4.6% และ 9.5% ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นของผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 0.6% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคใต้

เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัว 19.0% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 ที่ 828 ล้านบาท ขยายตัว 240.3% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกระบี่ เป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวที่ 10.5% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวอัตราเร่ง สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัว 9.8% ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้น จากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัว 7.4% และ 10.3% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ -0.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 1.4% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ