น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาการ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 7 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 2 มี.ค.62 ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยไทยในฐานะประธานอาเซียนจะเข้าร่วมทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้าในประเด็นสำคัญนำไปสู่การสรุปในปีนี้
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การสรุปผลการเจรจา RCEP ในปีนี้ ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากในฐานะประธานอาเซียนของไทย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้รัฐมนตรี 16 ประเทศ จะร่วมกันกำหนดแผนการทำงานและเป้าหมายของการประชุมที่จะจัดขึ้น 8 ครั้งในปีนี้ โดยจะเป็นการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส) 4 ครั้ง และการประชุมระดับรัฐมนตรี 4 ครั้ง เพื่อเป็นแนวทางให้การเจรจามีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนงาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าการเจรจาที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2562 โดยเฉพาะการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 19-28 ก.พ.62 ที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
"ไทยในฐานะประธานอาเซียน และประธานที่ประชุม RCEP ในปีนี้ จะพยายามขับเคลื่อนการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ตามเป้า โดยจะให้ความสำคัญกับการเร่งหาทางออกในประเด็นที่ยังค้างอยู่ ซึ่งหากปลดล็อคได้ จะทำให้การเจรจาคืบหน้า เช่น ช่วยหาทางออกในเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขัน เป็นต้น" น.ส.ชุติมากล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพบปะหารือกับรัฐมนตรี RCEP เช่น ญี่ปุ่น, จีน และอินเดีย หาทางให้การเจรจามีความก้าวหน้า ซึ่งพบว่าสิ่งท้าทายความสำเร็จของการเจรจา คือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในสมาชิก RCEP หลายประเทศ ทั้งไทย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ที่อาจส่งผลให้การเจรจาล่าช้าออกไปได้ ซึ่งไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจา RCEP และขอให้สมาชิกร่วมกันเร่งรัดให้การเจรจามีความคืบหน้าและดำเนินไปสู่เป้าหมาย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกจะร่วมกับไทยขับเคลื่อนการเจรจาให้บรรลุผลสำเร็จในปีนี้
น.ส.ชุติมา ระบุว่า แม้ในปีนี้ สมาชิกหลายประเทศจะมีการจัดการเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จนอาจทำให้การเจรจาล่าช้าออกไปนั้น ยันยันว่าจะไม่ทำให้เป้าหมายเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะทุกประเทศยืนยันที่จะทำให้การเจรจาเสร็จสิ้นภายในปีนี้ หลังจากการเจรจายืดเยื้อมานานถึง 7 ปีแล้ว หากการเจรจายังไม่เสร็จและมีผลบังคับใช้ล่าช้าออกไป อาจทำให้สมาชิกไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจและการค้าโลกผันผวนมาก
"จากการพูดคุยกับรัฐมนตรีการค้าของอินเดีย สัปดาห์ที่ผ่านมา เขายืนยันว่าจะผลักดันการเจรจาให้เสร็จในปีนี้ตามเป้าหมายให้ได้ แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ และน่าจะได้รัฐบาลใหม่หลังเดือนพ.ค.62 โดยการเจรจาในเรื่องที่ยังติดขัด อินเดียได้หารือสองฝ่ายกับประเทศที่ยังคุยกันไม่ลงตัวหลายครั้งแล้ว เพื่อให้การเจรจาปลดล็อคให้ได้ และระหว่างที่รัฐบาลอินเดียเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ สมาชิกยังไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องตัดสินใจเชิงนโยบาย ดังนั้น การเลือกตั้งจะไม่กระทบต่อการเจรจาแน่นอน" รมช.พาณิชย์กล่าว
สำหรับประเทศไทย ที่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาล เชื่อมั่นว่าจะเดินหน้าเจรจา RCEP ต่ออย่างแน่นอน และคงไม่ยกเลิกการเจรจา หรือทบทวนการเจรจาใหม่จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเป็นความตกลงที่เป็นประโยชน์กับไทย และสมาชิก เนื่องจากการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การเดินหน้าค้าขาย และลงทุนระหว่างสมาชิกจะเป็นประโยชน์มากกว่า ที่สำคัญแนวโน้มการค้าโลกมุ่งมาที่ภูมิภาคนี้แล้ว หากเจรจาไม่สำเร็จ ผลประโยชน์ที่สมาชิกควรจะได้รับก็ต้องเลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ RCEP มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 29% ของมูลค่าการค้าโลก โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 59.7% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้น 12.6% จากปี 2560
สำหรับประเทศสมาชิก RCEP ที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เม็ดพลาสติก, น้ำมันสำเร็จรูป, เครื่องคอมพิวเตอร์, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์ยาง, ยางพารา, เครื่องจักรกล และเหล็ก