นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่เข้าสู่โค้งสุดท้าย โดยมีเป้าหมายเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ในขณะนี้ได้มีการเจรจาประเด็นการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรอย่างจริงจังภายใต้คณะทำงานกลุ่มย่อยว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า โดยได้ผลักดันให้มีการนำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง (Self-Certification by Approved Exporter) มาบังคับใช้เพิ่มเติม รวมถึงให้มีการระบุข้อบทว่าด้วยใบกำกับราคาที่ออกโดยประเทศบุคคลที่สาม (Third Country/Party Invoicing) และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยประเทศคนกลาง (Back-to-Back C/O) ในระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบการค้าสมัยใหม่ที่มีการซื้อขายผ่านประเทศบุคคลที่สาม หรือการเป็นศูนย์กระจายสินค้า พร้อมกับให้เกิดความชัดเจน และโปร่งใส
"ความตกลง RCEP ประกอบด้วยสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความพร้อมและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงระบบการดำเนินพิธีการศุลกากรที่แตกต่างและหลากหลาย ส่งผลให้แต่ละประเทศมีจุดยืนในประเด็นการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการ กรมฯ ในฐานะหน่วยงานรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางการค้าหน่วยงานเดียวของไทย จึงได้กำหนดกรอบแนวทางการเจรจาในประเด็นดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า สอดคล้องรูปแบบการค้าสมัยใหม่ และมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการปฏิเสธการให้สิทธิฯ จากปลายทาง รวมทั้งข้อบทว่าด้วยระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedures: OCP) ต้องชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการนำมาบังคับใช้" นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้พัฒนาและปรับปรุงระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนและเวลาให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมั่นใจว่าหากการเจรจาระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าบรรลุข้อตกลงตามแนวทางที่กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมาย ด้วยความพร้อมของระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า จะทำให้การใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการได้รับความสะดวก ประหยัด และมีความโปร่งใสทั้งในขั้นตอนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ณ ปลายทางมากยิ่งขึ้น