น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางในการดูแลผลกระทบจากเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงปีนี้ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจส่งออก-นำเข้าของไทย ตลอดจนแนวทางในการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง สรท.ได้ขอให้ธปท. ช่วยดูแลเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปีนี้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน ซึ่งเป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและอ่อนค่าในบางช่วง รวมทั้งจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย.61 ที่ติดลบต่อเนื่องกันมา 3 เดือนจนถึง ม.ค.62
"เรากังวลว่ามูลการส่งออกปีนี้จะต่ำกว่าเป้า 5% ตามที่ สรท.เคยคาดการณ์ไว้ ต้องขอดูตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 1 นี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่จะดูแลไม่ให้ติดลบ และจากนั้นจะทบทวนเป้าส่งออกปีนี้ใหม่อีกครั้ง" ประธาน สรท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว และยังยอมรับได้ เนื่องจากต้องมองไปในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งหลังจากได้หารือร่วมกับผู้ว่าฯ ธปท.แล้ว ก็มีความเข้าใจมากขึ้น เพราะ ธปท.เองต้องดูแลหลายภาคส่วนไปพร้อมกัน
ประธาน สรท. กล่าวว่า จะย้ำให้สมาชิกของ สรท.ใช้เครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงและซื้อขายเป็นสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.เปิดให้ทำการค้าขายต่างประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่น 4 สกุล ประกอบด้วย เงินหยวนของจีน, เงินเยนของญี่ปุ่น, เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และเงินริงกิตของมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ยังต้องการเห็นประเทศในอาเซียนการค้าขายกันโดยใช้สกุลเงินของอาเซียนเองด้วย เพราะการส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนมีสัดส่วนสูงเกือบ 25%