นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวในงานเสวนา "ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology" พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "คมนาคมทุกโหมด ตอบโจทย์ประเทศไทย"ว่า ในปี 62 กระทรวงคมนาคมเร่งเดินหน้าโครงการทั้งทางราง ทางถนน ทางน้ำ และ ทางอากาศ รวม 21 โครงการ มูลค่า 1.29 ล้านล้านบาท อาทิ รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี – สงขลา ช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ และช่วงบ้านไผ่ – นครพนม, รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา), รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หัวหิน รถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ และสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน – ศาลายา และตลิ่งชัน – ศิริราช ทางถนน ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก, ทางน้ำ ขยายท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) และปรับปรุงท่าเรือระนอง, ทางอากาศ จัดหาฝูงบินใหม่ จำนวน 38 ลำ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน (MRO) โครงการก่อสร้างอาคารแซทเทิลไลท์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งมีทั้งโครงการต่อเนื่อง โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างประมูลก่อสร้าง และบางส่วนเป็นโครงการที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในเดือนมี.ค. ครม.จะอนุมัติ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 7,469.43 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่ -มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP และเตรียมเสนอ ครม.ภายในเดือนนี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนท์ พร้อมการร่วมทุนเดินรถมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท
สำหรับโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รถไฟทางคู่ 7 โครงการ เช่น เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท, ปากน้ำโพ-เด่นชัย มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-สงขลา มูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท,หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 8.1 พันล้านบาท
ขณะที่รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาทนั้น มีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2577 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงสายใต้ มีเส้นทางจากกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ซึ่งจะมีการผลักดันโครงการในระยะที่ 2 จากหัวหิน-สุราษฎร์ธานี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนมากขึ้น