สรท.ยังคงเป้าส่งออกปีนี้โต 5% ฝากรัฐบาลใหม่ช่วยดูแลค่าเงิน-เปิดตลาดใหม่บรรเทาผลกระทบสงครามการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 5, 2019 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี 62 โต 5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.0 (บวก/ลบ 0.5) บาท/เหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 มี.ค.62 ที่ 31.84 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) โดยมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1. บรรยากาศการค้าโลก ความผันผวนของบรรยากาศการค้าโลกจากทั้งภาวะของสงครามการค้า การเจรจา Brexit ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสิทธิประโยชน์ทางการค้า และความไม่สงบระหว่างประเทศอินเดียและปากีสถาน ที่ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อภาคการส่งออกและการขนส่งสินค้าทางอากาศ

2. ความผันผวนของค่าเงิน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการเสนอราคาที่ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง และต้นทุนที่ต้องจัดการมากขึ้น ขณะที่รายได้ในรูปของเงินบาทที่ลดลงทำให้ผู้ลงทุนอาจจะทบทวนการลงทุน 3. มาตรการกีดกันทางการค้า (NTB, NTM) จากต่างประเทศ อาทิ การควบคุมหรือเพิ่มมาตรการตรวจสอบสินค้าจากประเทศเวียดนามโดยเฉพาะกลุ่มสินค้ารถยนต์และเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการถูกสอบสวนการทุ่มตลาด (Anti duming) ในสินค้ากลุ่มหม้อแปลงไฟฟ้าจากออสเตรเลีย และตามมาตรการใหม่ของทางสหรัฐ (US FSMA) ที่ต้องผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนกับตัวแทนฝั่งสหรัฐก่อนจะมีการนำเข้าหรือการแก้ไขข้อมูลการนำเข้าจากเดิมที่ทางผู้ส่งออกสามารถแก้ไขได้เองและต้องมีการคิดค่าบริการเพิ่มเติมจากตัวแทน

4. การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรีและการต่อรองสิทธิพิเศษทางด้านภาษีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและไทย ขณะที่เวียดนามที่กำลังจะทำ FTA Vietnam- EU และข้อกฎหมายภายในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก รวมทั้งการถูกตัดสิทธิ GSP จากประเทศญี่ปุ่นภายในเดือนเมษายน หลังจากไทยถูกตักสิทธิ์ GSP จากทั้งอเมริกาและยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ สรท.ได้มีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลใหม่ ได้แก่ 1.ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไป จนกระทบถึงต้นทุนการส่งออก โดยการพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการเครื่องมือประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจากปัจจัยของการแข็งค่าของเงินบาทที่ไม่อาจคาดการณ์ได้มารองรับ

2. Trade mission/Trade Fair การเปิดตลาดใหม่หรือตลาดทดแทน (Market diversification) เป็นสิ่งที่ต้องทำในช่วงความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณถดถอยและความไม่แน่นอนของสงครามทางการค้า เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและหาตลาดรองรับสินค้า หรือการเปิดกลุ่มผู้บริโภครายใหม่ให้เหมาะสมแต่ละกลุ่มสินค้า

3. การเจรจา FTA ภาครัฐควรเร่งเจรจาเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากไทยได้เริ่มถูกปฏิเสธในการใช้สิทธิ GSP อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งการเจรจา FTA ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าที่เริ่มทยอยตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น ไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร RCEP และ CPTPP เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกในเดือนม.ค.62 มีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 616,104 ล้านบาท หดตัว 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนม.ค.62 มีมูลค่า 23,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 14.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 756,664 ล้านบาท ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนม.ค.62 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 140,561 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ