นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้นำระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียม สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน อาทิ ประกาศร่าง TOR/ร่างเอกสารประกวดราคา (e-bidding) ประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคา ประกาศราคากลาง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี คู่มือต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานด้านผู้ประกอบการ
โดยในไตรมาสแรก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ต.ค.61 - ม.ค.62) มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด จำนวน 1.6 ล้านโครงการ มูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ผู้ชนะการประกวดราคาและทำสัญญาแล้ว 1.8 ล้านฉบับ ในวงเงินงบประมาณ 497,918 ล้านบาท โดยมีวงเงินที่จัดหาได้ 454,738 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้ 43,180 ล้านบาท ซึ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถประหยัดงบประมาณได้มากที่สุด คือ วิธี e-Market ประหยัดได้ 16.31% รองลงมาคือวิธี e-Bidding ประหยัดได้ 12.5%
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า จากการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการสนใจที่จะเข้ามาเป็นผู้ค้ากับภาครัฐมากขึ้น ซึ่งไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ.2562 มีผู้ประกอบการมาลงทะเบียนใช้งานในระบบ e-GP จำนวน 260,272 ราย กรมบัญชีกลางจึงให้ความสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ปฏิบัติงาน โดยได้ดำเนินการจัดโครงการฝึกอบรมบันทึกข้อมูลสินค้าในระบบ Electronic catalog : e-catalog และการเสนอราคาในระบบ e-GP เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าในระบบ e-catalog (จำนวน 78 สินค้า) ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลแค็ตตาล็อกสินค้าในระบบ e-catalog และการเสนอราคาในระบบ e-GP สำหรับวิธี e-market และวิธี e-bidding จำนวน 5 รุ่น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะเริ่มอบรมวันที่ 29 มีนาคม 2562 เป็นวันแรก