ครม. รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน/รฟท.ลงนามสัญญาช่วงสีคิ้ว-กุดจิก พรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 5, 2019 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย รวมระยะทาง 608 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี

สำหรับโครงการระยะที่ 1 ได้แบ่งสัญญาก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา และขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 2 สัญญาคือ สัญญาที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาคิดเป็นความคืบหน้า 45% สัญญาที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ได้ดำเนินการประกวดราคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญาการก่อสร้างได้ 6 มีนาคม 2562 และเริ่มการก่อสร้างได้ภายในเดือนเมษายน 2562

ส่วนอีก 12 สัญญา ระยะทางประมาณ 239 กิโลเมตร จะประกวดราคาแล้วเสร็จและสามารถลงนามในสัญญาภายในเมษายน 2562 และจะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2562 รวมมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2566

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการพบว่ามีปัญหาด้านระบบการทำงาน มาตรฐานทางเทคนิค ระบบกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดจนภาษาและวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศซึ่งมีความแตกต่างกัน อาทิ ด้านงานก่อสร้าง มาตรฐานของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เช่น ปูนซิเมนต์ หิน เหล็ก เป็นมาตรฐานที่ใช้เฉพาะในประเทศจีน ทำให้ต้องมีการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต และทดสอบวัสดุที่ผลิตในประเทศไทยอย่างเข้มงวด

ด้านการจัดทำร่างสัญญางานระบบรถไฟความเร็วสูง พบว่าข้อมูลด้านเทคนิคไม่เพียงพอ เช่น ข้อมูลของเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำให้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับราคาตลาด จึงยากต่อการประเมินความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุน ตลอดจนฝ่ายจีนไม่คุ้นเคยกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ในประเทศไทย จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นายณัฐพร กล่าวเสริมว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ทั้งสองฝ่ายรับทราบการดำเนินงานช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคาของฝ่ายไทย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมงานเชื่อมประสานระหว่างงานโยธา และระบบภายในสถานีดอนเมือง และสถานีบางซื่อ ว่าในสัญญางานก่อสร้าง รฟท.จะเป็นผู้ประสานงานกับผู้ออกแบบต่อไป โดยจะพยายามสูงสุดในการปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในบางรายการระหว่าง 2.3 และสัญญา 1 ให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นและโดยเร็วที่สุด และจะใช้ทางวิ่งแบบไม่ใช้หินโรยทางตามสถานี อุโมงค์ต่างๆ และเส้นทางระหว่างสถานีบางซื่อถึงดอนเมือง ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าช่วงเส้นทางที่ใช้หินโรยทาง จะเปลี่ยนไปไม่ใช้หินโรยทาง ซึ่งฝ่ายไทยรับทราบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

ส่วนการดำเนินงานในช่วงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ทั้งสองฝ่ายจะหารือในประเด็นด้านเทคนิคของโครงการเพื่อประเมินราคางานระบบรถไฟ และฝ่ายจีนจะส่งราคาประเมินงานระบบภายใน 1 เดือนหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน และจะเริ่มการก่อสร้างภายในปี 2562 โดยที่ฝ่ายไทยจะรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธาของโครงการ และจะพิจารณาการที่ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

ส่วนการเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในหลักการเกี่ยวกับสะพานแห่งใหม่ที่จะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวประมาณ 30 เมตร โดยที่ฝ่ายไทยเสนอให้มีจุดตรวจสำหรับพิธีการด้านศุลกากร ตรวจคนเข้าเมืองและหน่วยงานอื่น พร้อมทั้งสถานีเปลี่ยนถ่ายตั้งอยู่บริเวณชายแดนฝั่งไทยและฝั่งลาว

ส่วนการฝึกอบรมและถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรและบุคคลากรจำนวน 900 คนซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการอบรมภายในประเทศไทย พร้อมทั้งเห็นชอบการจัดสรรกรอบวงเงินในการฝึกอบรม จำนวน 920 ล้านบาท

ส่วนความร่วมมือด้านการเงิน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบสัญญาเงินกู้และได้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานด้านการเงินให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของสัญญา 2.3 โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องเงื่อนไขเงินกู้ที่ฝ่ายจีนจะเสนอและจะเจรจากันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ