ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเงินบาทอาจยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างผันผวนต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากการที่ยังคงมีอีกหลายตัวแปร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรออยู่ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนก.พ. ถึงต้นเดือนมี.ค. 2562 เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง หลังจากแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าเข้าใกล้แนว 31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าของวันที่ 5 มี.ค. 2562 (ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงบ่าย) ท่ามกลางแรงกดดันที่มาจากหลายด้าน ทั้งปัจจัยในประเทศ ตลอดจนแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ จากหลายกลุ่ม หลังจากที่เงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่าระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาท ยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีสถานะขายสุทธิสะสมประมาณ 5.845 พันล้านบาท และ 5.902 พันล้านบาท ตามลำดับ ในระหว่างวันที่ 21 ก.พ.-4 มี.ค. 2562
ในอีกด้านหนึ่ง เงินดอลลาร์ฯ ก็ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลเช่นกัน โดยเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2562 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาค่อนข้างดี) และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ภายหลังจากที่มีสัญญาณเชิงบวกจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นภาพที่ค่อนข้างเร็วและมากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยหากเทียบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างวันที่ 20 ก.พ.-5 มี.ค. 2562 จะพบว่า ในขณะที่ ดัชนีเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้น (แข็งค่า) ประมาณ 0.3% เงินบาทกลับอ่อนค่าลงถึง 2.4% ซึ่งมากกว่าเงินเยนญี่ปุ่น และเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย ซึ่งอ่อนค่าตามมาที่ประมาณ 1.0% และ 0.8% ตามลำดับ และจากทิศทางของเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากในช่วงนี้ ทำให้เมื่อเทียบภาพรวมการเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี 2562 แล้ว เงินบาทกลับมาเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.2% สลับกับค่าเงินรูเปียห์ที่ขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้วยอัตราการแข็งค่าที่ 3.0% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ
"คงต้องยอมรับว่า ค่าความผันผวนของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ขยับขึ้นมาที่ 5.1% สูงขึ้นกว่าค่าความผันผวนของปี 2561 ที่อยู่ที่ 4.6% ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ โดยการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งฟอร์เวิร์ด และออปชัน รวมถึงการใช้สกุลเงินท้องถิ่น จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถประเมินกระแสรายรับ-รายจ่าย จากการส่งออก-นำเข้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของเดือนมีนาคม 62 ตัวแปร/ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ 19 -20 มี.ค. การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งเฟดไม่น่าจะส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย, 20 มี.ค. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งน่าจะส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% ตามเดิม, 24 มี.ค. กำหนดการเลือกตั้งทั่วไปของไทย, 27 มี.ค. การหารือในประเด็นทางการค้าระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน ซึ่งยังต้องติดตามว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะบรรลุผลการเจรจาได้หรือไม่ และ 29 มี.ค. เส้นตาย Brexit รวมถึงข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนก.พ. 62ซึ่งจุดสนใจจะอยู่ที่ตัวเลขการส่งออกและดุลการค้าว่าจะมีทิศทางอ่อนแอเหมือนเดือม.ค. ที่ผ่านมาหรือไม่
"จากการที่ยังคงมีอีกหลายตัวแปร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรออยู่ในระยะข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างผันผวนต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา"