นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ"เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง" ในงาน Thai Journalists Association 64th Anniversary โดยมองว่าเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยนับว่ามีความเข้มแข็ง โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 4% นับว่าสอดคล้องกับศักยภาพ แต่ภูมิต้านทานด้านการคลังอาจยังต่ำกว่าที่คิด ซึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐที่อาจจะมากขึ้นในอนาคต จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายประชานิยมที่หวังผลทางการเมืองในช่วงสั้น ๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต
"เรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะว่าวันนี้ต้องถือว่าระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 4% ถือว่าสอดคล้องกับศักยภาพแล้ว แต่ฐานะการคลังของเรายังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุล ภูมิต้านทานด้านการคลังของเราอาจจะต่ำกว่าที่หลายคนคิดมาก การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐและการลดขนาดของภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้ว ภูมิต้านทานด้านการคลังที่เราหวังว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทย จะกลายมาเป็นตัวปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต"ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
นายวิรไท กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในวันนี้นับว่ามีความเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะเสถียรภาพด้านต่างประเทศ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มาก ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมที่ทำสัญญาซื้อไว้ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีที่แล้วเกินดุลถึง 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 7%ของ GDP ซึ่งเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันถึง 5 ปี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไทยมีกันชนรองรับความผันผวนจากนอกประเทศที่นับวันจะรุนแรงขึ้น
ขณะที่เสถียรภาพในประเทศก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ เศรษฐกิจไทยไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ส่วนเสถียรภาพด้านการคลังก็ยังอยู่ในระดับที่ใช้ได้เช่นกัน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา รายจ่ายภาครัฐจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังต่ำกว่าหลายประเทศ นอกจากนี้ เสถียรภาพระบบสถาบันการเงินก็อยู่ในเกณฑ์ดี ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับสูง การบริหารความเสี่ยงและการบริหารสภาพคล่องดีขึ้นมาก เชื่อได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยได้
"ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในหลายมิติ เศรษฐกิจไทยจึงสามารถรับมือและฟื้นตัวจากเหตุการณ์วิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วหลายต่อหลายครั้งตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หรือสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองก็ตาม เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาอันสั้น สัญญาณเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิต้านทานและความสามารถในการปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี" นายวิรไทกล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิต้านทานและความสามารถในการปรับตัวดีนั้น แต่มีสัญญาณหลายอย่างที่เราต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องศักยภาพของระบบเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อรายได้ คุณภาพชีวิตและความอยู่ดีกินดีของคนไทยในระยะยาว ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปไกลกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเคยโตได้เฉลี่ยสูงถึง 4.8% ต่อปี ในช่วง 2542-2551 แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 3.8% ต่อปี และต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะข้อจำกัดจากโครงสร้างประชากร การจ้างงานของไทยเคยเติบโตเฉลี่ย 1.1% ต่อปี ในช่วง 10 ปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 แต่หลังจากนั้นกลับหดตัวเฉลี่ย 0.1% ต่อปี จำนวนคนไทยในวัยแรงงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปี 2555 และกำลังลดลงทุกปี
"หากเรายังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยจะอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไว้ ดังนั้น คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันระบุปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ให้ชัดเจนและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง"ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่าโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่ดีจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 มิติสำคัญ คือมิติแรก เศรษฐกิจจะต้องมีผลิตภาพ (Productivity) ดี และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มิติที่สอง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะต้องกระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนในวงกว้าง (Inclusivity) และมิติที่สาม เศรษฐกิจจะต้องมีภูมิต้านทาน (Immunity) ที่ดี ไม่มีจุดเปราะบางที่จะสร้างปัญหาหรือนำไปสู่วิกฤตได้ในอนาคต
โดยความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติแรก คือ ด้านผลิตภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะกำหนดศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เราพบว่าผลิตภาพที่ทรงตัวนี้เกิดจากสาเหตุเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 4 เรื่องหลัก คือ 1.แรงงานจำนวนมากมีผลิตภาพต่ำ ขาดการพัฒนาและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพที่สูงขึ้น (Labor allocation) 2. แรงงานไทยมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (Labor mismatch) สาเหตุหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากระบบการศึกษาไทยที่ไม่สามารถผลิตแรงงานออกมาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้ 3. การลงทุนของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเราเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ระดับการลงทุนที่แท้จริงของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรม 4.ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจจากกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่มีจำนวนมากและล้าสมัย
"ความท้าทาย 4 ประการ เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งพัฒนาการด้านผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเรามองไปในอนาคต คนไทยในวัยทำงานจะมีจำนวนลดลง ในขณะที่แต่ละคนต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น ทางเดียวที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ คือ ต้องเร่งพัฒนาผลิตภาพในทุกภาคของระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อให้คนไทยเก่งขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้น และสร้างรายได้ได้เพิ่มขึ้น" นายวิรไท กล่าว
ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติที่สอง คือความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีปัญหาการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบไม่ทั่วถึงต่อเนื่องมานาน ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง มีสินทรัพย์สูง โดยเฉพาะเจ้าของทุนขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐขาดประสิทธิภาพและความสามารถที่จะทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างภาษี โครงสร้างการใช้จ่ายภาครัฐ หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติที่สาม คือภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคจัดว่าค่อนข้างดี แต่ในระดับครัวเรือนนั้นถือว่ายังเปราะบางมากจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 77.8% ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกับไทย อีกทั้งยังมีสัดส่วนหนี้เสียในระดับสูง ยอดหนี้ของคนไทยจำนวนมากไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะมีอายุถึงวัยใกล้เกษียณ ซึ่งทำให้ไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่คนส่วนใหญ่จะแก่ก่อนรวย นอกจากนี้คนไทยยังไม่มีแผนการออมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากภาคครัวเรือนไม่สามารถพึ่งพาการออมของตัวเองได้ สุดท้ายจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ
นอกจากภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นมากแล้ว ภาครัฐยังจะมีภาระด้านประกันสังคม รายจ่ายประจำที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการขยายบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานราชการอีกมาก มีภาระเงินอุดหนุนสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมไปถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายประชานิยมที่หวังผลทางการเมืองในช่วงสั้นๆ ประมาณการฐานะการคลังระยะปานกลางของรัฐบาลแสดงว่ารัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกประมาณ 12 ปี จึงจะเริ่มมีงบประมาณสมดุลได้
ทั้งนี้ เห็นว่าการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจะต้องทำอย่างจริงจังและรอบด้าน เพื่อเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน้อยใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจะมีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนและต่อการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ 2.การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (Climate change) จากภาวะโลกร้อน ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น 3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และกระแสการต่อต้านโครงสร้างเชิงสถาบัน (Institution) ที่มีอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเชิงสถาบันระดับประเทศ หรือระหว่างประเทศ
"ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะปะทุเป็นปัญหารุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดเงินตลาดทุนโลก และราคาพลังงาน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์เหล่านี้สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลาและไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้อย่างวางใจ" นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวอีกว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะต้องให้ความสำคัญกับอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1.ต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยคุณภาพและผลิตภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและ SMEs 2.ต้องเร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานไทย 38 ล้านคนในขณะนี้ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก 3.การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และทำอย่างไรที่จะให้ทรัพยากรย้ายออกจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่า
"โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรามีโจทย์ที่ท้าทายหลายด้านที่เชื่อมโยงกัน ไม่มีทางลัดที่จะแก้ไขเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่เกิดผลข้างเคียงไปสู่เรื่องอื่น..เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ต้องการแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในสังคม เราทุกคนควรจะต้องถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามัวแต่คิดว่าคนอื่นต้องรับเป็นเจ้าภาพแล้ว ไม่มีทางที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย"นายวิรไท กล่าว