ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 51 ยังน่าจะสามารถเติบโตภายใต้คาดการณ์เดิมที่ 4.5-6.0% ถึงแม้มองในแง่ร้ายว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจถดถอยลงมากจากปัญหาซับไพร์ม เนื่องจากอีกด้านหนึ่งผลจากการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐจะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง จะส่งผลให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อของไทยลดลงด้วย ดังนั้น ธปท.ก็จะสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุด ธปท.ยังคงเป้าหมายอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 51 ไว้ที่ 4.5-6.0% จากในปี 50 ที่เติบโตได้ในอัตรา 4.8% ซึ่งเป็นขั้นสูงในช่วงคาดการณ์ที่ 4.3-4.8%
แม้จะปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มาที่ 2.8-4.0% จากเดิม 1.5-2.8% และอัตราจะปรับไปเป็น 2.8-3.3% ในปี 52 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 51 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3-2.3% สูงขึ้นจากเดิมที่ระดับ 1.0-2.0% และคาดว่าในปี 52 จะขยับขึ้นเป็น 1.5-2.5%
นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในปี 50 มีสัญญาเร่งตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การส่งออก และการลงทุน ส่วนการบริโภคในช่วง ต.ค.-พ.ย.50 เริ่มปรับตัวดีขึ้น
ในปี 51 อุปสงค์ภายในประเทศจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 50 และจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แม้ยังมีความไม่แน่นอนต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐ และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูง
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 51 จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 85.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และในปี 52 จะขยับมาที่ 86.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
จากแรงกดดันด้านราคาที่จะสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นสูงกว่าประมาณการเดิม แต่มีแนวโน้มที่จะลดลงในปี 52 เมื่อแรงกดดันจากปัจจัยด้านอุปทานบรรเทาลง สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีทิศทางเร่งตัวขึ้น แต่ในอัตราที่ช้ากว่าเงินเฟ้อทั่วไป เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนต้องอาศัยเวลา ประกอบกับมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของทางการยังมีอยู่
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีแนวโน้มปรับลดลงในไตรมาสที่ 1/51 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม และค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์ที่มีทิศทางอ่อนค่าลง
สำหรับการส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากประมาณการเดิม เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่ำกว่าคาดการณ์เดิมจากผลกระทบซับไพร์มที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค แต่ด้วยการปรับตัวของผู้ส่งออกทำให้ผลกระทบของค่าเงินต่อปริมาณการส่งออกมีไม่มากเท่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น และปี 52 การส่งจะเร่งตัวขึ้นสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่น่าจะฟื้นตัวขึ้น
การนำเข้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงประมาณการเดิม แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการลงทุน ทำให้ต้องมีการนำเข้าเครื่องจักรและอปุกรณ์มากขึ้น แต่เมื่อผนวกกับราคาน้ำมนที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน จึงทำให้ปริมาณการนำเข้าไม เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการเดิมมากนัก ส่วนปี 52 คาดว่าการนำเข้าจะเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการลงทุน
ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะเกินดุลลดลง และมีโอกาสลดลงจนถึงระดับขาดดุลในปีหน้า เนื่องจากการเร่งตัวของการนำเข้า สอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าประมาณการเดิม ซึ่งจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้การลงทุนเอกชนและเศรษบกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในระยะต่อไป ส่วนปี 52 คาดว่าการลงทุนจะขยายตัวสูงขึ้น เพราะจะมีเงินลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการผลิตอีโคคาร์ และ การขยายระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น
ด้านการบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าประมาณเดิมเล็กน้อยจากแรงส่งในช่วงปลายปี 50 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การเมืองที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และขยายตัวต่อเนื่องถึงปี 52
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--