การบินพลเรือนฯ แจง FAA สหรัฐ เข้าสอบทานการบินพลเรือนไทยช่วง 11-15 ก.พ.เพื่อยกระดับขึ้นเป็น Category 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2019 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ชี้แจงกรณีมีคณะผู้เชี่ยวชาญของ Federal Aviation Administration (FAA) เข้ามาทำการสอบทานที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2562 และมีการเผยแพร่ข่าวสารในทำนองว่าประเทศไทยยังไม่ผ่านการประเมินจาก FAA นั้นว่า การเข้ามาสอบทานของ FAA ดังกล่าวไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นเพียงการให้คำแนะนำทางเทคนิค (Technical Review) เพื่อประเมินความพร้อมของไทยก่อนยื่นขอรับการตรวจสอบอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

โดยในช่วงวันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2562 คณะทำงานของ FAA ได้เข้ามาเพื่อสอบทานระบบการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศไทยว่าเป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในส่วนที่กำหนดไว้ใน Annex 1, 6 ส่วนที่ 1 และ 8 ของอนุสัญญาชิคาโก เพียงใด โดยการสอบทานดังกล่าวอ้างอิงจาก IASA Checklist และเอกสารของ ICAO คือ ICAO Document 9734, Safety Oversight Manual, Part A. นอกจากนั้น คณะทำงานของ FAA ยังได้เยี่ยมชมทั้งการปฏิบัติการบินและการซ่อมบำรุงของผู้ประกอบการการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) อีกด้วย

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 คณะทำงานได้สรุปผลของการสอบทานให้กับนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ CAAT พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องทราบ ผลปรากฏว่าจากรายการคำถามทั้งหมดใน IASA Checklist จำนวน 434 ข้อ มี 26 ข้อที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติ โดยส่วนที่ยังไม่สอดคล้องดังกล่าวหลายข้ออยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ทั้งนี้ FAA จะส่งผลการสอบทานอย่างเป็นทางการผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยมาให้ CAAT ภายใน 60 วัน

อย่างไรก็ตาม CAAT จะทำการปรับปรุงแก้ไขทั้ง 26 ประเด็นดังกล่าวให้สมบูรณ์ก่อนที่จะยื่นขอรับการตรวจอย่างเป็นทางการตามโครงการ IASA เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ Category 1 ในอนาคตอันใกล้นี้

อนึ่ง ทาง CAAT ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับ FAA เมื่อปี 2561 โดยความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมถึงการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำแนะนำทางเทคนิค (Technical Review) ก่อนที่ CAAT จะขอรับการตรวจสอบตามโครงการการประเมินความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศ หรือ International Aviation Safety Assessment (IASA)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ