นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า หากประเทศไทยถูกสหรัฐจัดสถานะให้เข้าไปอยู่ในบัญชีประเทศที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับรุนแรงสุด(PFC)ที่จะมีการประกาศในเดือนเม.ย.นี้ ไทยอาจถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าขั้นรุนแรง
ก่อนหน้านี้ ไทยเคยถูกจัดให้อยู่ในบัญชี PFC มาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน ในช่วงปี 2537-2539 เพราะไทยไม่ได้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ แต่ในขณะนั้นสหรัฐฯไม่ได้ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงกับไทย เพราะการจะใช้มาตรการตอบโต้ใดๆ สหรัฐฯ จะต้องขอความเห็นชอบจากสภาครองเกรสก่อน รวมทั้งต้องหารือกับองค์การการค้าโลก(WTO)ด้วย
"เราได้แต่หวังว่า สหรัฐฯจะไม่จับให้ไทยมาอยู่ในพีเอฟซี เพราะเราแก้ปัญหาละเมิดอย่างมากแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยจะประกาศบังคับใช้สิทธิกับยาชนิดใหม่อีกหรือไม่ ยอมรับว่า เราต้องทำงานหนัก เพื่อชี้แจงให้สหรัฐฯเข้าใจ"นางพวงรัตน์ กล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ(PWL) ซึ่งสหรัฐฯ จะทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาประจำปี 2550 ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ที่จะประกาศในเดือนเม.ย.นี้
รายงานข่าว ระบุว่า มีแนวโน้มที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยจะประกาศบังคับใช้สิทธิ (CL) ผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรชนิดใหม่จากอินเดียเพิ่มเติมอีก 4 รายการ โดยเป็นยารักษาโรคมะเร็งทั้งหมดในเร็วๆ นี้ จากก่อนหน้านี้ที่ประกาศใช้สิทธิไปแล้ว 3 รายการ จึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจจัดให้ไทยอยู่ในบัญชี PFC ได้
แต่กระทรวงพาณิชย์เห็นด้วยกับการใช้สิทธิ CL เพราะทำให้คนไทยมีโอกาสซื้อยารักษาโรคได้ในราคาที่ถูกลง อีกทั้งยังสามารถดำเนินการได้เพราะไม่ผิดข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ภายใต้ WTO
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--