พาณิชย์แนะผู้ส่งออกไทยไปเยอรมนีเตรียมวางแผนปรับปรุงกระบวนการผลิต หลังมีมาตรการลดใช้น้ำตาล-เกลือ-ไขมันในอาหารสำเร็จรูป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 7, 2019 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ปิตินันทน์ สมานวรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงโภชนาการและการเกษตร แห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ได้วางเป้าหมายร่วมกับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่ดี โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี 2025 ในการบังคับลดปริมาณการใช้น้ำตาล เกลือ และไขมันในการผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น พิซซ่าแช่แข็ง อาหารจากธัญพืช และเครื่องดื่ม เป็นต้น เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศ และลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หลอดเลือด และโรคเบาหวาน

ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยยินยอมที่จะลดปริมาณน้ำตาลในการผลิตเครื่องดื่มลง 15% ขณะที่สมาคมผู้ผลิตอาหารเกี่ยวกับแป้งและธัญพืช จะดำเนินการลดปริมาณน้ำตาลในการผลิตอาหารเช้าธัญพืชสำหรับเด็กลงอย่างน้อย 20% และสมาคมอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากนม วางแผนลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตสำหรับเด็กลง 10% เป็นต้น

"การดำเนินมาตรการลดการใช้น้ำตาล เกลือ และไขมันในอุตสาหกรรมอาหารดังกล่าว ได้เริ่มต้นแล้วในปี 2019 และจะมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอว่ามีการปรับสูตรอาหารและเครื่องดื่มตามที่ระบุไว้หรือไม่ และหากผู้ผลิตไม่ให้ความร่วมมือ ทางการเยอรมนีจะมีการเพิ่มมาตรการควบคุมให้เข้มข้นขึ้นต่อไป"

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการข้างต้น แม้จะเริ่มต้นบังคับใช้กับผู้ผลิตในประเทศ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้กับผู้ผลิตในต่างประเทศที่ส่งออกสินค้าเข้ามาจำหน่ายในตลาดเยอรมนี ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยที่ทำตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเยอรมนี จะต้องศึกษาและติดตามกฎระเบียบดังกล่าวให้ดี และวางแผนปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้อง เพื่อให้สินค้ายังคงสามารถจำหน่ายได้ต่อไป

ปัจจุบัน มีข้อมูลทางสถิติจากกระทรวงโภชนาการและการเกษตร พบว่า ในเยอรมนีมีจำนวนประชากรที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ ได้แก่ เพศหญิง 47% เพศชาย 62% และเด็ก 15% ซึ่งมีผลมาจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เกลือ และไขมันในปริมาณที่มากเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ