นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงเป็นแม่งานของเสาเศรษฐกิจได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ผลักดันให้งานด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะต้องดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ คืบหน้าไปได้ด้วยดี เชื่อมั่นว่าจะสามารถประกาศความสำเร็จภายใต้แนวคิด "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" (Advancing Partnership for Sustainability) ใน 3 ด้าน 13 ประเด็นได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ด้านแรก Future Orientation การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ประกอบด้วย 5 ประเด็น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การจัดทำแผนงานตามกรอบบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อรองรับการก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วยแผนงาน 6 ด้าน อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งคืบหน้าไปได้ด้วยดี และ (2) การจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) จัดประชุม Symposium ในวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพ โดยจะเชิญวิทยากรจากภาคธุรกิจและนักวิชาการจากทั้งในและนอกภูมิภาคมาร่วมระดมสมองจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ (3) การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (4) การประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ (5) การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน โดย สสว.
ด้านที่สอง Enhanced Connectivity การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย 5 ประเด็น มีประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบหลักคือ (6) หาข้อสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในปี 2562 โดยไทยได้แสดงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม RCEP เพื่อผลักดันการเจรจาฯ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ประกอบด้วย (7) การเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) โดยกรมศุลกากร (8) การผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (9) การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Financing) โดยกระทรวงการคลัง และ (10) การจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน (ASEAN Gastronomy Tourism) โดย ททท.
ด้านที่สาม Sustainable in all dimensions การส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ (11) การจัดทำแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน โดยกรมประมง (12) การจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน โดย ก.ล.ต. และ (13) การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็กำลังเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเช่นเดียวกัน
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 13 ประเด็นมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี โดยไทยจะรายงานให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ประสบความสำเร็จภายในปี 2562 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ต่อไป
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย