นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมศุลกากรญี่ปุ่นได้ประกาศเงื่อนไขใหม่ที่กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นเวลา 3 ปี จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของญี่ปุ่นทุกรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าตามเงื่อนไขดังกล่าว และจะถูกตัดสิทธิ GSP ทุกรายการที่เคยได้รับ โดยปัจจุบันมีสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิภายใต้ GSP ญี่ปุ่นจำนวน 86 รายการ
ทั้งนี้ การตัดสิทธิ GSP ดังกล่าวมีผลกระทบกับไทยน้อยมาก เนื่องจากรายการสินค้าที่ผู้ส่งออกมาขอใช้สิทธิ GSP ญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ทดแทนได้ ซึ่งจะได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยอัตราภาษีภายใต้สิทธิ GSP ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงระหว่าง 4.8-15% และอัตราภาษีภายใต้ AJCEP อยู่ในช่วงระหว่าง 5-16% โดยกรมฯ เร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิ JTEPA และ AJCEP แทนสิทธิ GSP ญี่ปุ่นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2559
สำหรับสินค้าที่ไทยได้รับ GSP จากญี่ปุ่น 86 รายการ พบว่า ในปี 2561 มีสินค้าที่ผู้ส่งออกมาขอ Form A ใช้สิทธิ GSP ญี่ปุ่น จำนวน 12 รายการ ในระดับพิกัด 9 หลัก ได้แก่ ซอร์บิทอล (พิกัดฯ 2905.44.000) ขนมปัง เพสทรี เค้กอื่นๆ (พิกัดฯ 1905.90.329) พิซซ่าแช่เย็นหรือแช่แข็ง (พิกัดฯ 1905.90.313) หอยเป๋าฮื้อ (พิกัดฯ 1605.90.290) ไม้อัดพลายวูดอื่นๆ (พิกัดฯ 4412.99.990) ไม้บล็อคบอร์ด (พิกัดฯ 4412.94.900) ไม้ลามิเนต (พิกัดฯ 4412.99.120) เอทิลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้แปลงสภาพอื่นๆ (พิกัดฯ 2208.90.129) แวฟเฟิลหรือเวเฟอร์ (พิกัดฯ 1905.32.000) กาแฟคั่วที่แยกคาเฟอีนออกแล้ว (พิกัดฯ 0901.21.000) ปลาแมกเคอเรลปรุงแต่ง (พิกัดฯ 1604.15.000) และ ปลาซาดีนปรุงแต่ง (พิกัดฯ 1604.13.090) ซึ่งในจำนวนสินค้าทั้ง 12 รายการนี้ มีเพียงสินค้าซอร์บิทอลเพียงรายการเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ญี่ปุ่น เนื่องจากไม่ได้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับสิทธิ JTEPA และ AJCEP
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สถิติการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปญี่ปุ่นปี 2561 มีมูลค่า 7.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 58.67% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกมูลค่า 18.97 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 1.27% ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิ ลดลง 4.88% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสถิติการใช้สิทธิ GSP ญี่ปุ่นดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการตระหนักและรับรู้ว่าสิทธิพิเศษภายใต้ GSP ญี่ปุ่นจะหมดไป จึงได้มีการหันไปใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลง JTEPA และ AJCEP แทน และที่ผ่านมา กรมฯ ได้พยายามผลักดันสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ให้มีการเปิดตลาดภายใต้ความตกลง JTEPA ในเวทีประชุมระหว่างไทย–ญี่ปุ่นมาโดยตลอด
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการทราบความคืบหน้าเพื่อการเตรียมการลดผลกระทบ และต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สิทธิ GSP ญี่ปุ่น ความตกลง JTEPA และ AJCEP สามารถสอบถามได้ที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทรศัพท์ 02-547-5098 หรือสายด่วน 1385 หรือ เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th