รมว.คลัง ปัดหนี้ครัวเรือนเป็นจุดอ่อนฉุดภาพรวมเศรษฐกิจ เหน็บธปท.หากห่วงหนี้พุ่งไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 11, 2019 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่มีการออกมาวิจารณ์ถึงหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้ว่า "คนที่พูดไปเรื่อยแบบนี้ ถามว่าคุณจะลดอย่างไร คนที่มีหน้าที่คุมสินเชื่อในระบบของไทย คือ ธปท. เมื่อคุณบอกว่ามันเกินมา แล้วคุณคุมมาตั้งชาติหนึ่งแล้ว คุณปล่อยให้มันเกินแบบนี้ได้ยังไง คือ สูงแล้วทำอย่างไร แต่กระทรวงคลังเอง บอกว่าสูงแล้วเทียบต่อจีดีพี ไม่ได้มีปัญหา มันไม่เยอะ เพราะ productivity มันเพิ่มขึ้น แล้วคนเข้าสู่แหล่งเงินได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี เมื่อวิเคราะห์แล้ว เงินที่จ่ายไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อความมั่นคงของเขา ไม่ใช่เพื่อความฟุ่มเฟือย NPL รายย่อย ก็ 3-4% มีอาการเป็นช่วงๆ เพราะ NPL ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจด้วย ถ้าทำเศรษฐกิจให้โตขึ้น NPL จะลดเอง พอเศรษฐกิจดี ธุรกิจดีขึ้น ก็จะไม่มีหนี้เสีย" รมว.คลังกล่าว

พร้อมมองว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วงจริงในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น แล้วเหตุใดจึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

"ในเมื่อคุณ (ธปท.) ห่วงหนี้บุคคล แล้วไปขึ้นดอกเบี้ยทำไม นี่เป็นอัตราดอกเบี้ยที่แบงก์สามารถจะบีบได้ เพราะว่าตัวที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ MLR ทั้งหลาย สภาพคล่องสูง ถ้าไปขึ้นดอกเบี้ย คนอื่นเขาก็หนีหมด แต่ลูกค้ารายย่อย เขาไม่มีทางไป สังเกตไหมว่าตั้งแต่ขึ้นดอกเบี้ยมา ที่ขึ้นดอกเบี้ยคือ MRR ขึ้นรายย่อยหมด แล้วคุณบอกว่าเกิดความเหลื่อมล้ำ รายย่อย รายใหญ่ ในเมื่อคุณทำแบบนี้ มันยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือเปล่า" รมว.คลังระบุ

รมว.คลัง ระบุว่า การจะชี้ว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ในความเป็นจริงแล้วควรต้องแยกแยะก่อนว่าหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นมาจากการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในส่วนใด เพราะหากเป็นการหนี้สินที่เกิดจากการกู้เงินมาใช้ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย ก็ย่อมถือว่าเป็นหนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพดีแม้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากเป็นการสร้างหนี้หรือกู้เงินมาเพื่อซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือรถจักรยานยนต์ จะถือว่าไม่ใช่หนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพ เพราะเป็นการกู้แบบใช้แล้วหมดไป ไม่ได้เกิดประโยชน์ หรือสร้างมูลค่าในอนาคต

"ดังนั้น เวลาดูหนี้ครัวเรือนต้องแยก ถ้าเป็นหนี้ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งจำเป็น เราถือว่านี่คือการกู้เงินหรือเป็นหนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพดี แต่ถ้าเป็นหนี้กู้มาใช้จ่ายซื้อมือถือ ซื้อมอเตอร์ไซค์ อันนี้ไม่ค่อยดี เป็นการกู้ที่ใช้แล้วหมดไป รายได้ไม่เกิด ความเป็นอยู่ไม่เกิด แต่หนี้ครัวเรือนที่ซื้อบ้าน ก็เหมือนกับมีรายได้ เพราะปัจจุบันก็ต้องเช่าอยู่แล้ว เปลี่ยนจากเช่ามาเป็นผ่อนเท่านั้น แล้วตัวเองก็ได้ทรัพย์สินมา ดังนั้นส่วนนี้ คือตัวที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น" นายอภิศักดิ์ กล่าว

พร้อมมองว่า การที่คนที่มีรายได้น้อยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเขามีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง จึงได้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) จัดโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เพราะหากไม่กู้ซื้อบ้านในช่วงนี้ เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าราคาบ้านจะเพิ่มมากขึ้น และยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีกำลังเงินเพียงพอที่จะมีความสามารถในการกู้เงินได้ ดังนั้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็อาจจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยอมรับว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น คือ หนี้นอกระบบที่ปัจจุบันถูกแปลงเข้ามาเป็นหนี้ในระบบ ซึ่งหนี้ในส่วนนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก จึงทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องนำให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบให้มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น

"หนี้นอกระบบหลายๆ ส่วนถูกแปลงเข้ามาเป็นหนี้ในระบบ แล้วหนี้นอกระบบมันเยอะมาก ถามว่าคุณจะเก็บไว้ใต้พรมหรือ แล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไร ถูกข่มขู่ ชีวิตครอบครัวหายไป อยู่ไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องเอาเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อช่วยเขา มันจึงกลายเป็นหนี้อยู่ในระบบ จึงเห็นว่าหนี้ในระบบเพิ่มขึ้น เพราะมันมาจากส่วนนี้ค่อนข้างเยอะ" รมว.คลัง กล่าว

ดังนั้นการจะวิเคราะห์หนี้ส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือน จะต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด ไม่ใช่ยึดแค่เพียงตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาหยิบยกเป็นประเด็น เพราะไม่เช่นนั้นจะไปเข้าทางที่ในช่วงนี้มีการหาเสียงทางเลือกตั้ง และมีการหยิบยกในเรื่องดังกล่าวมาใช้เป็นประเด็นหาเสียงทางการเมือง

"หลักการทั้งหมด เรื่องหนี้บุคคลนี้ มันตอบโจทย์ว่าต้องดูให้ดี ไม่ใช่ดูแค่ตัวเลข แล้วบังเอิญช่วงนี้ มีการหาเสียงกัน มันเลยไปเข้าล็อค ว่ารัฐบาลยิ่งปล่อยกู้มาก คนยิ่งจน ยิ่งมีหนี้มากขึ้น ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เลย" รมว.คลัง กล่าว

แท็ก ธปท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ