นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วง ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. และการเดินรถช่วง บางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 1.1 แสนล้านบาทว่า คาดว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติ ในการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)ได้กลางเดือนมี.ค.นี้ จากนั้น รฟม. จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เพื่อจัดทำร่างTOR ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คาดว่า จะประกาศเชิญชวนเอกชนได้ประมาณเดือนมิ.ย.62 ใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกประมาณ 7-8 เดือน สามารถเสนอผลการพิจารณาต่อครม.ได้
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) นั้น การก่อสร้างมีคืบหน้า 20% ล่าช้ากว่าแผน 4-5% เนื่องจากติดปัญหาการเข้าพื้นที่ช่วงถนนแจ้งวัฒนะ และศรีนครินทร์ ซึ่งได้เร่งปรับแก้แล้ว ส่วนสายสีส้มด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) คืบหน้า 25%
นายภคพงศ์ กล่าวว่า ในเดือนก.ค.-ก.ย.62 จะมีการทดสอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอย่างไม่เป็นทางการ โดยให้ประชาชนเข้ามาร่วมทดสอบในรูปแบบคล้ายกับการเปิดเดินรถสายสีม่วง โดยคาดว่า เมื่อเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ช่วงหัวลำโพง – หลักสอง จะมีผู้โดยสารประมาณ 2 แสนคน/วัน ส่วนสายสีน้ำเงินช่วง หัวลำโพง-บางซื่อ จะมีผู้โดยสารเพิ่มจาก 3 แสนคนเป็น 4 แสนคน/วัน ทั้งโครงข่ายสายสีน้ำเงินจะมีผู้โดยสารรวม 6 แสนคน/วัน
ส่วนช่วงเตาปูน - ท่าพระ คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสาร เมื่อเปิดเดินรถเดือน มี.ค.63 คาดว่าผู้โดยสารทั้งระบบสายสีน้ำเงินจะเพิ่มเป็น 7 แสนคน/วัน ขณะที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จะเพิ่มเป็น 1 แสนคน/วัน
สำหรับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 5 กม. จำนวน 4 สถานีนั้น จะประเมินจำนวนผู้โดยสารหลังเปิดสายสีน้ำเงินครบตลอดสายหากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 1 ล้านคน/วัน จะเจรจากับบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงินเพื่อให้ลงทุนในส่วนดังกล่าวทั้งงานโยธาและระบบการเดินรถ
ทั้งนี้ ค่าโดยสารของสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะใช้โครงสร้างค่าโดยสารเดียวกันรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินเดิม คือ 16-42 บาท ซึ่งเก็บราคาสูงสุดที่ 12 สถานีอยู่แล้ว ดังนั้นหากนั่งเกินสถานนีที่ 13 เป็นต้นไป จะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท หรือเท่ากับ ส่วนต่อขยายได้นั่งฟรี ส่วนการใช้สายสีม่วงต่อกับสายสีน้ำเงิน ยังคงไม่เก็บค่าแรกเข้า และสูงสุดจากคลองบางไผ่-หัวลำโพง ไม่เกิน 70 บาท
โดย BEM ได้สั่งซื้อรถขบวนใหม่ 35 ขบวน ขบวนแรกเข้ามาในวันที่ 11 เม.ย. 2562 ส่วนขบวนที่ 2 เข้ามาปลายเดือนเม.ย. และจะทยอยเข้ามาจนถึงเดือนก.ย.62 จะมีรถจำนวน 16 ขบวน และจากนั้นจะทยอยส่งมอบขบวนรถเรื่อยไปจนถึง เดือนมี.ค. 63 จะมีรถเพิ่มอีก 19 ขบวน ครบ 35 ขบวน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะเปิดช่วงหัวลำโพง – หลักสอง จำนวน 11 สถานี ในวันที่ 30 ก.ย.62 และ ช่วงเตาปูน - ท่าพระ จำนวน 8 สถานี เปิดในวันที่ 30 มี.ค. 63 ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งเป็นวงกลม เป็นเส้นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน