นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01-24 ไม่รวมพิกัด 03 และ 16 ซึ่งเกี่ยวกับสินค้าประมง) ในปี 2561 ว่ามีมูลค่ากว่า 26.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 7.7% และคิดเป็น 10.6% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย อีกทั้งไทยยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับที่ 18 ของโลก โดยมีคู่ค้าสำคัญได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ผลไม้ อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งจากผักผลไม้ เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เป็นต้น
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้ง 13 ฉบับ ที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และฮ่องกง ในช่วงที่ผ่านมากรมเจรจาฯ ได้จับมือกับสภาเกษตรแห่งชาติลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ เรื่องประโยชน์เอฟทีเอและการพัฒนาสินค้าเกษตรไทยเพื่อให้แข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ ตลอดจนให้เกษตรกรนำสินค้ามาให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ แนะนำแนวทางการปรับตัว
โดยในปีงบประมาณ 2562 กรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 4 จังหวัด คือ อุดรธานี สินค้าสมุนไพร ขิง ข่า กระชาย ไม้ดอกไม้ประดับ ปราจีนบุรี สินค้าสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ แม่ฮ่องสอน สินค้าชา กาแฟ สมุนไพร ธัญพืช สุโขทัย สินค้ากาแฟ ส้ม ชาดอกกาแฟ ละมุด และใบตองตานี และเตรียมจะลงพื้นที่อีก 2 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สินค้าทุเรียน เงาะ และสมุนไพร และ สงขลา สินค้ามังคุด เงาะ ลองกอง และผลไม้อบแห้ง เป็นต้น ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ สินค้าผลไม้เมืองร้อนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศคู่ FTA เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น เพราะประเทศคู่ค้าได้ลดเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยแล้ว สำหรับสินค้าที่ไทยอาจจะต้องเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้านมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งกรมฯ ก็ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนม ให้ความรู้และแนะนำให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าโดยการพัฒนาคุณภาพสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายการส่งออกสู่ตลาดโลกด้วย FTA
"จากการลงพื้นที่ไปในหลายจังหวัดพบว่า ผู้ผลิตหลายรายมีศักยภาพ สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA สร้างรายได้และขยายการส่งออกไปต่างประเทศได้แล้ว โดยได้มีการพัฒนาสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การรักษาคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานสินค้า และมีการเสริมนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ให้กับสินค้าเกษตรนั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับเกษตรกรไทยยุค 4.0 ที่ต้องการเปลี่ยนจากการทำเกษตรที่เน้นปริมาณ ไปสู่การทำการเกษตรที่เน้นคุณภาพ นวัตกรรม และเทคโนโลยี นอกจากนี้ สินค้าทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่รักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างสินค้าเกษตรอินทรีย์ ก็พบว่า ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ของตนได้ในราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไปถึง 10 เท่า อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เริ่มมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น" นางอรมน กล่าว