ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนก.พ 62 อยู่ที่ 82.0 จาก 80.7 ในเดือน ม.ค.62 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากบรรยากาศการเลือกตั้งที่คึกคัก และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 69.0 จาก 67.7 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 77.1 จาก 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.9 จาก 98.7
สำหรับปัจจัยบวกมาจาก พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 24 มี.ค.ส่งผลให้บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศมีความคึกคัก, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 4/61 โต 3.7% ขยายตัวจาก 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า, สภาพัฒน์ คาด GDP ปีนี้โต 3.5-4.5%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, สงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย, ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และพืชผลเกษตรบางรายการเพิ่มปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ปัจจัยลบมาจาก ภาคการส่งออกในเดือนม.ค. -5.65%, ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้า ในแง่ที่อาจจะกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต, ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญ 2 เรื่องที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.62 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาจาก 1.สถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนในไทยเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้มีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจไทยจากภาคบริการเป็นสำคัญ 2.บรรยากาศการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งมีความคึกคัก เห็นได้จากกิจกรรมการหาเสียงทั่วประเทศในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งป้ายหาเสียง, รถหาเสียง และเวทีปราศรัย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดไปในแต่ละพื้นที่ โดยคาดว่าเมื่อรวมทั้งเดือนก.พ.และมี.ค.จะมีเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมรณรงค์หาเสียงทั่วประเทศราว 3-5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี แม้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ตลอดจนบรรยากาศการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงสูงจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน, กรณีอังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) รวมทั้งราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
"แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่า 100 แสดงว่าประชาชนยังมองว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นเป็นระดับปกติ ซึ่งทำให้ประชาชนยังใช้ความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อยๆ เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ" นายธนวรรธน์ ระบุ
นายธนวรรธน์ ยังมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วยว่ามีโอกาสเติบโตได้ 3.8% หรืออยู่ในกรอบ 3.7-4.2% ซึ่งต่ำกว่าเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ 4.0-4.5% เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่คลี่คลาย แม้ผู้นำของทั้งสองประเทศจะมีการเจรจากันมากขึ้น โดยคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะยังส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาส 2
นอกจากนี้ กรณี Brexit ยังมองไม่เห็นความชัดเจนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากสุดท้าย ผลสรุปออกมาว่าอังกฤษต้องออกจากยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (No Due) ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งกระทบต่อนักท่องเที่ยวยุโรปที่จะเดินทางมาไทยในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยปีนี้เหลือโตเพียง 3-4% จากที่เคยคาดไว้เดิมที่โต 4-5%
ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จึงทำให้ขาดแรงขับเคลื่อนงบประมาณใหม่ๆ หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจน และมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ราวกลางไตรมาส 3 และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจจะโตได้ราว 4%
"หากได้รัฐบาลใหม่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็น่าจะเริ่มเห็นในช่วงปลายไตรมาส 3 ดังนั้นเศรษฐกิจในปีนี้ยังเติบโตได้ไม่โดดเด่นมากนัก ซึ่งรัฐบาลในขณะนี้จำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย" นายธนวรรธน์ระบุ